ฝ่ายค้านชงขอเปิดอภิปรายทั่วไป ม.๑๕๒ คาดต้นเดือน เม.ย. ข้อหาไม่ทำตามคำมั่นสัญญา-รีดนาทาเร้นประชาชน-ทำลายหลักนิติธรรม-ไร้จริยธรรม-ไร้ความสามารถ-ไร้วุฒิภาวะ-ไร้ประสิทธิภาพ ปชป.จองกฐินยุติธรรม ๒ มาตรฐาน รองโฆษก รบ.ดักคออย่ามุ่งเล่นการเมือง ป.ป.ช.ชั่งใจอุทธรณ์คดี “ยิ่งลักษณ์” “จุรินทร์” ชี้ไม่มีใครห้ามกลับบ้าน เตือนฟางเส้นสุดท้าย ซ้ำรอย “นิรโทษสุดซอย” พากันเจ๊ง “เศรษฐา” ถกเต็มคณะอาเซียน-ออสเตรเลีย ชวนออสซีลงทุนแลนด์บริดจ์-อีอีซี ชูเป้าหมายไทยศูนย์กลางรถอีวี ลัดฟ้าต่อเยือนเยอรมนี-ฝรั่งเศส ก.ก.ชงศึกษาขอบเขตอำนาจศาล รธน. วางแนวทางแบ่งแยกนิติบัญญัติ-ตุลาการให้ชัดในที่สุดพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ คาดเป็นช่วงต้นเดือน เม.ย. ด้วยข้อหาไม่ทำตามคำมั่นสัญญานโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน รีดนาทาเร้นประชาชน ทำลายหลักนิติธรรม ไร้จริยธรรม ไร้ความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ ไร้ประสิทธิภาพฝ่ายค้านงัด ๑๕๒ ยื่นซักฟอกรัฐบาลเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๖ มีนาคมที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธานการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยมีบรรดาแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง เพื่อหาข้อสรุปว่าจะยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาลหรือไม่ หลังการหารือนานกว่า ๑ ชั่วโมงครึ่ง นายชัยธวัชแถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันจะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาล จะมีการประสานไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นญัตติในวันที่ ๑๓ มีนาคมนี้ เบื้องต้นเห็นควรว่าต้องใช้เวลาอภิปรายอย่างน้อย ๒ วัน คาดว่าน่าจะเป็นช่วงหลังอภิปรายร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ วาระ ๒-๓ ในวันที่ ๒๗-๒๘ มีนาคมเสร็จแล้ว คงได้อภิปรายช่วงวันที่ ๓-๕ เม.ย. ก่อนปิดสมัยประชุม “ไร้จริยธรรม-ไร้ความสามารถ”นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า ประเด็นที่จะนำมาอภิปราย แต่ละพรรคร่วมได้ทำการบ้านมาบ้างแล้ว หลังจากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมากว่า ๖ เดือน แต่ไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ซ้ำยังเพิกเฉยต่อนโยบายที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งคนไทยและต่างประเทศ เอารัดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ข้าราชการเรียกรับผลประโยชน์ รีดนาทาเร้นประชาชน หลักนิติธรรมถูกทำลาย โดยการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศอย่างไร้จริยธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ ทั้งหมดเป็นประเด็นเบื้องต้นที่มีการนำเสนอในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน“ชัยชนะ” จองกฐิน ๒ มาตรฐานนายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าพรรคพร้อมเดินหน้าร่วมอภิปรายฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ กับพรรคก้าวไกล แกนนำฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเนื้อหาการอภิปรายครั้งนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว สส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง ๒๕ คน พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการอภิปรายรัฐบาลครั้งนี้ เมื่อถามว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯด้วยใช่หรือไม่ นายชัยชนะตอบว่า ใช่ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ว่าเรื่องนายทักษิณ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราดูแล้วว่าไม่มีความเสมอภาค เลือกปฏิบัติ ๒ มาตรฐาน เราจะตรวจสอบทั้งหมด เมื่อถามย้ำว่าพรรคใดจะรับเป็นเจ้าภาพในการอภิปรายเรื่องนี้ นายชัยชนะกล่าวว่า ต้องรวมพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด ทำหน้าที่ด้วยกัน เพราะการอภิปรายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว วันนี้การเมืองต้องทำรูปแบบใหม่ อย่าเล่นการเมืองเพื่อสร้างวาทกรรม“จุรินทร์” ยันมีข้อมูลพออภิปรายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการอภิปรายต้องให้พรรคก้าวไกลเป็นหลัก เราต้องให้เกียรติพรรคก้าวไกลในฐานะเป็นแกนนำฝ่ายค้าน หากตัดสินใจรูปแบบใดเราจะดำเนินการไปตามนั้น ส่วนมีข้อมูลเพียงพออภิปรายหรือไม่ ขอไม่พูด เพราะจะไปกดดันพรรคก้าวไกลโดยไม่จำเป็น ข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่ายังไม่ได้ใช้งบประมาณ การทุจริตจะเกิดขึ้นไม่ได้ คงไม่จำเป็น ถ้าคิดจะโกงไม่ต้องใช้งบประมาณก็โกงได้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องให้เวลาตัดสินใจ อยู่ที่มติพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะอภิปรายมาตรา ๑๕๑ หรือมาตรา ๑๕๒ เรามีหน้าที่ปฏิบัติตาม ไม่ทิ้งที่จะตรวจสอบรัฐบาล มีข้อมูลพอรบ.ดักทางอย่ามุ่งเล่นการเมืองด้าน น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ ว่า รัฐบาลยินดีตอบข้อซักถามของ สส.ทุกคน ไม่มีความวิตกกังวลใดๆ มองว่าเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงถึงการดำเนินนโยบายในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา ตลอด ๖ เดือนมานี้ รัฐบาลนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ทำหน้าที่เต็มที่ตามนโยบายที่ประกาศไว้ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ รายได้ รายจ่าย ความเป็นอยู่ของประชาชน สิ่งแวดล้อม ประกาศเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ การที่พรรคฝ่ายค้านกล่าวพาดพิงรัฐบาลว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนั้น มองว่าผลงานของรัฐบาลคือสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้ มากกว่าคำพูด เลื่อนลอยไร้หลักฐาน หวังเพียงแค่ผลทางการเมือง เป้าหมายรัฐบาลคือแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และรัฐมนตรีทุกคนสามารถตอบทุกได้ทุกคำถาม แต่ขอให้ใช้เวลาของสภาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อย่าใช้เวทีนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองดิสเครดิตรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรป.ป.ช.ชั่งใจอุทธรณ์คดี “ยิ่งลักษณ์”วันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการอุทธรณ์คำพิพากษาหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ มีมติเอกฉันท์ยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงการโรดโชว์ไทยแลนด์ว่า ตามกฎหมายมีระยะเวลาอุทธรณ์ ๓๐ วัน สามารถขอขยายเวลาได้ ต้องรอดูคำพิพากษาตัวเต็มก่อน ดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่ศาลยกฟ้อง เท่าที่ทราบจากข่าวมีหลายประเด็นพอสมควร ต้องดูว่าประเด็นดังกล่าว ป.ป.ช.ยอมรับได้หรือไม่ จะนำมาพิจารณาวินิจฉัยจะอุทธรณ์หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ สำหรับคดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ใน ป.ป.ช. ขณะนี้เหลือเพียงคดีเดียวคือกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้เอกชน ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน“จุรินทร์” ชี้ไม่มีใครห้ามกลับบ้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับประเทศไทยว่า ไม่มีใครห้ามไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไทย แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เหตุที่ไม่กลับเพราะว่าหนีคดี ไม่ใช่ว่าคนและประเทศไทยไม่ให้กลับ อยู่ที่ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์เองว่าสุดท้ายแล้วจะตัดสินใจอย่างไร แต่จะทำอะไรถ้าไม่ถูกควรเกรงใจประชาชนบ้าง บ้านเมืองมีหลักกฎหมาย ผิดต้องรับผิด ถูกต้องรับถูก จะมาทำลายเหยียบย่ำทั้งหมด วันหนึ่งจะย้อนกลับมา ฝากเตือนไว้เตือนฟางเส้นสุดท้ายผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ศาลฎีกาฯยกฟ้องคดีโรดโชว์ไทยแลนด์ไปเป็นการปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับประเทศหรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า ถ้าจะกลับก็ไม่ต้องกลัว กลับได้ แต่คดีที่ค้างหรือโทษที่ศาลฎีกาตัดสินไว้ยังคงอยู่ ต้องว่ากันไปตามนั้น สำหรับอนาคตของประเทศและทุกฝ่าย รวมทั้งอนาคตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย ถ้าจะทำเหมือนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขอว่าอย่ามาทำลายกระบวนการยุติธรรมอีกเลย เดี๋ยวจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย อย่าทำให้ประชาชนรู้สึกมาก และประชาชนจับตาดูอยู่ อย่าคิดว่าประชาชนไม่พูดเขาจะไม่รู้สึก เขาไม่เจ็บปวด บ้านเมืองจะอยู่ได้ด้วยหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ที่นายกฯพูดแต่ไม่ได้ทำ บ้านเมืองจะอยู่ได้ผิดก็ต้องผิดถูกก็ต้องถูก ถ้าทำผิดกลายเป็นถูกจะอยู่กันอย่างไร เท่ากับส่งเสริมการทำผิด ประเทศจะไปอย่างไรซ้ำรอย “นิรโทษสุดซอย” พากันเจ๊งเมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าเงื่อนไขไม่เหมือนของนายทักษิณ นายจุรินทร์ตอบว่า ทุจริตก็มาตรา ๑๕๗ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ส่วนหากจะมีใครเอื้อให้กลับมา ใครต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่เคยไปวิจารณ์นอกเหนือจากรัฐบาล สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่รู้เห็นเป็นใจ ทั้งหมดต้องนับหนึ่งที่รัฐบาล เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่ามีการตกลงกันไว้ก่อนแล้วที่สองพี่น้องจะกลับมา นายจุรินทร์ตอบว่า ไม่ทราบ มองปรากฏการณ์ทั้งหมดในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รักความยุติธรรม เช่นเดียวกับคนไทย อยากเห็นผิดก็ต้องผิด ถูกก็ต้องถูก เพราะเราเคยออกกฎหมายล้างผิด สุดท้ายบ้านเมืองเสียหายยับเยินมาแล้ว ตอนกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ถ้าทำให้ซ้ำรอยอีก นี่คือหัวใจสำคัญ ถกเต็มคณะอาเซียน-ออสเตรเลียเมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๖ มี.ค. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเมลเบิร์น เร็วกว่า กทม.๔ ชั่วโมง) ที่ Melbourne Convention and Exhibition Centre นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง พร้อมผู้นำชาติอาเซียน และนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ร่วมประชุมเต็มคณะสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ (๒๐๒๔ ASEAN-Australia Special Summit) ในโอกาสฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปีความสัมพันธ์ ในหัวข้อ ASEAN-Australia Cooperation under ASEAN’s Three Community Pillars ทั้งนี้นายเศรษฐานำผ้าขาวม้าจาก จ.ร้อยเอ็ด มาทำเป็นผ้าพันคอพร้อมโพสต์ข้อความว่า “ได้คล้องผ้าขาวม้าสวยๆจาก จ.ร้อยเอ็ด ที่ประชาชนมอบให้ ก่อนเข้าร่วมประชุมเต็มคณะ เพื่อส่งเสริมและโปรโมตผ้าไทย” ขณะที่ผู้นำอาเซียนและออสเตรเลียต่างแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี พร้อมเสนอให้ใช้โอกาสที่สถานการณ์โลกแบ่งเป็นหลายขั้ว กระชับความร่วมมือทั้งในภูมิภาคและระดับโลก นำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองชวนออสซีลงทุนแลนด์บริดจ์-อีอีซีนายเศรษฐากล่าวต่อที่ประชุมว่า มี ๒ ประเด็นเร่งด่วนที่จะทำให้เกิดสันติสุข และความมั่นคง ดังนี้ ๑.ส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ ทั้งด้านการค้า การลงทุน ผ่านการเชื่อมโยงตลาดการค้าและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งกรอบ RCEP และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ๒.เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ เสนอให้ออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการท่าเรือ กระชับความร่วมมือกับอาเซียน รวมทั้งเชิญชวนออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริด์จ อีอีซี ระบบขนส่งทางราง และสนามบินด้วย ๓.เชื่อมโยงด้านดิจิทัล ปัจจุบันอาเซียนกำลังพัฒนากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ถือเป็นฉบับแรกของโลก และคาดจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนได้ ๒ เท่า เป็น ๒ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ๔.เชื่อมโยงระหว่างประชาชนด้วยซอฟต์พาวเวอร์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หวังว่าทุนจากออสเตรเลียที่มอบให้นักเรียนในอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ ASEAN- Australia จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และการอบรมเพิ่มพูนทักษะระหว่างกันมากยิ่งขึ้น และหวังออสเตรเลียจะอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับประเทศในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจสะดวกมากยิ่งขึ้นหนุนสุดตัวปั้นเศรษฐกิจสีเขียวนายกฯกล่าวต่อว่า ๒.ส่งเสริมวาระสีเขียวในภูมิภาค สนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน การเงินสีเขียวผ่านพันธบัตร และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญการจัดการคาร์บอน และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต รองรับยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อมุ่งไปสู่ภูมิภาคที่เชื่อมโยง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคตมั่นใจเพิ่มโอกาสชาติได้ประโยชน์นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อมั่นว่ามาครั้งนี้เพิ่มโอกาสสร้างประโยชน์ให้ประเทศ และประชาชนมาก ภายใต้ ๓ เสาหลักอาเซียน คือ ๑.การเมืองและความมั่นคง ๒.เศรษฐกิจ ๓.สังคมและวัฒนธรรม เพื่อผลักดันเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ได้แก่ ด้านการค้าการลงทุน เพิ่มมูลค่าการค้า ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมระบบ โลจิสติกส์ไร้รอยต่อ ด้านดิจิทัล เริ่มพัฒนาเจรจาความตกลง DEFA (Digital Economy Framework Agreement) สร้างมูลค่ามากกว่า ๒ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และด้านสุดท้ายที่สำคัญมาก คือ ด้านประชาชน การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างประชาชน ผ่านการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมโยงด้านการตรวจลงตราระหว่างกัน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ไทยสามารถร่วมกับออสเตรเลียทำให้เกิดระบบนิเวศอีวีครบวงจร รวมถึงการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน เชื่อมั่นว่าจะเกิดความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค ผ่านการมีเป้าหมายร่วมกันย้ำผลหารือ ๔ ผู้นำ-๖ บริษัทยักษ์ใหญ่นายกฯกล่าวอีกว่า ส่วนอื่นๆได้พบหารือกับผู้นำ ๔ ประเทศ อาทิ ผู้นำ สปป.ลาว พูดถึงการค้าชายแดน กับนายกฯมาเลเซีย พูดคุยถึงสันติสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นโอกาสให้พูดคุยเรื่องโอกาส เห็นร่วมกันว่าเราควรเริ่มพูดคุยแนวทางการแก้ปัญหาจากการเพิ่มโอกาส การลงพื้นที่เมื่อเร็วๆนี้ เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการขุด Hidden Gem ถือเป็นอีกมิติในการแก้ปัญหา และการพบผู้นำออสเตรเลีย พูดคุยถึงการสนับสนุนนำเข้าแรงงานไทยมาทำงานด้านการเกษตรที่ออสเตรเลีย และขอบคุณที่ดูแลนักเรียนไทยมาต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องฟรีวีซ่า และปีนี้นายกฯนิวซีแลนด์มีกำหนดการเดินทางเยือนไทยในช่วงเดือน เม.ย. นอกจากนี้ยังได้พบหารือกับผู้นำเอกชน ๖ บริษัทใหญ่ ที่มีความสำคัญทั้งในด้านอุตสาหกรรม พลังงานสะอาด และด้านกองทุน ป้อนใบยูคาลิปตัสให้ “โคอาลา”ต่อมาเวลา ๑๑.๔๕ น. ที่ทำเนียบผู้สำเร็จราชการประจำรัฐวิกตอเรีย นายเศรษฐาเข้าร่วมพิธีต้อนรับผู้นำประเทศ หัวหน้ารัฐบาล และร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน มีผู้สำเร็จราชการประจำรัฐวิกตอเรียเป็นเจ้าภาพ ก่อนร่วมพิธีนายกฯได้ป้อนใบยูคาลิปตัสให้โคอาลาที่ชื่อ Hank และ Winnie ที่ออสเตรเลียนำมาต้อนรับ พร้อมกันนี้นายกฯได้ทวีตภาพและข้อความผ่าน X ว่า “Hank กับ Winnie ชอบใบยูคาลิปตัสมากครับ โคอาลาเป็นสัตว์พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย รูปร่างหน้าตาน่ารัก แต่ตอนนี้หายากมากๆแล้ว แวะมาป้อนใบยูคาลิปตัสก่อนเข้ารับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำประเทศต่างๆ ที่ Government House Victoria”อาสาตัวกลางไกล่เกลี่ยขัดแย้งช่วงบ่ายที่ห้อง State Ballroom Government House Victoria นายเศรษฐาเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Retreat) มีนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกฯออสเตรเลีย กล่าวถ้อยแถลงเปิดหัวข้อ “วิสัยทัศน์ต่อภูมิภาค ประเด็น สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการรับมือกับปัญหาท้าทายร่วมกัน” นายเศรษฐากล่าวถ้อยแถลงแสดงความเชื่อมั่นว่า ความมั่นคงในภูมิภาค ภูมิทัศน์ของโลก และร่วมกันจัดการกับข้อกังวล จำเป็นต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ เชื่อทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกัน คือภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง ยึดตามกฎ และครอบคลุม ยินดีที่สหรัฐฯและจีนใช้ไทยเป็นเวทีหารือเพื่อรักษาเสถียรภาพของความสัมพันธ์ เราหวังว่าออสเตรเลียจะสนับสนุนกลไกของอาเซียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของ AUKUS และ Quadดึงออสเตรเลียสวมบทคนกลางนายเศรษฐากล่าวต่อว่า ในส่วนของตะวันออก กลางกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฉนวนกาซา ต้องการย้ำข้อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการสู้รบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันที ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมา เชื่อว่าทางออกที่สันติ มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียวของเมียนมา คือทางออกด้านการเมือง เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยริเริ่มโครงการส่งมอบความช่วยเหลือ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของอาเซียนในการผลักดันฉันทามติ ๕ ข้อ หวังเป็นเส้นทางสู่การเจรจาที่สร้างสรรค์ และเป็นเวทีการมีส่วนร่วมของเมียนมากับประชาคมระหว่างประเทศ ยินดีที่อาเซียนสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ และหวังว่าออสเตรเลียจะสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ด้วย อาเซียนและออสเตรเลียสามารถเสริมจุดแข็งของกันและกัน เพื่อยกระดับความมั่นคงของมนุษย์โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และความมั่นคงด้านอาหาร ไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อว่าการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมของออสเตรเลียในการเสริมสร้างศักยภาพ มีความจำเป็นอย่างมากชูเป้าหมายไทยศูนย์กลางรถอีวีนายกฯยังกล่าวอีกว่า ความจำเป็นในความร่วมมือเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องพยายามมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไทยมีเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำ และเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า ได้เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน มีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น ๕๐% ภายในปี ๒๐๔๐ รวมทั้งออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน และระดมทุนไปแล้ว ๑๒.๕ พันล้านดอลลาร์ และไทยยังอยู่ระหว่างการร่าง พระราชบัญญัติอากาศสะอาด และ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายเร่งด่วนคือปัญหา PM๒.๕ ไทยร่วมกับชาติเพื่อนบ้านจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนลัดฟ้าต่อเยือนเยอรมนี–ฝรั่งเศสจากนั้นนายเศรษฐาและคณะ เดินทางจากท่าอากาศยานเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ไปยังกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯมีกำหนดการเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๗-๑๔ มี.ค. จะเดินทางถึงกรุงเบอร์ลิน ช่วงเช้าวันที่ ๗ มี.ค. การเยือนฝรั่งเศสและเยอรมนีเพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายรัฐบาล ยืนยันค่านิยมเสรีประชา ธิปไตยของไทย สร้างความเชื่อมั่น ผลักดันความร่วมมือการค้า การลงทุน และความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป การขอยกเว้นการตรวจลงตราเชงเกนให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยกับฝรั่งเศส ไทยมีแผนจะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายในปี ๒๕๖๗ ตามแผนการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ.๒๐๒๒-๒๐๒๔) มีกำหนดการสำคัญ อาทิ การหารือกับผู้นำทั้ง ๒ ประเทศ ส่วนภาคเอกชน จะเข้าร่วมงาน ITB Berlin ๒๐๒๔ ณ กรุงเบอร์ลิน การเข้าร่วมพิธีเปิดงาน MIPIM ๒๐๒๔ และกล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี พบหารือภาคเอกชนสำคัญระดับโลก นายปดิพัทธ์ สันติภาดาพท.เต้นปม “อ๋อง” บุกทำเนียบเมื่อเวลา ๑๐.๓๐ น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภา ผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ก่อนเข้าสู่วาระนายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) หารือถึงการทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ ที่ปฏิบัติเกินอำนาจหน้าที่เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑ มี.ค. เพื่อทวงถามร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ค้างอยู่ ๓๑ ฉบับจากรัฐบาลว่า ถือเป็นการก้าวล่วงฝ่ายบริหาร ไม่เคยเห็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติบุกประมุขฝ่ายบริหาร ขอให้สภาฯบันทึกว่าไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนายปดิพัทธ์ ทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายตอบโต้ว่า การเสนอร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะร่างกฎหมายการเงินที่นายกฯต้องลงนามในเวลารวดเร็ว ไม่ปล่อยทิ้งไว้ ๖ เดือน ดังนั้นหากรองประธานสภาฯติดตามตรวจสอบเป็นเรื่องสมควรแล้ว เป็นการกระทำโดยชอบและพึงกระทำพท.บี้ไขก๊อกทำเสียศักดิ์ศรี สส.จากนั้นนายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรค พท.ได้อภิปรายตำหนิการทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ว่า ทำให้เสียศักดิ์ศรีฝ่ายนิติบัญญัติ ขอให้นายปดิพัทธ์ลาออก เพราะถ้าไปแบบโคจรไม่เข้าตามตรอกออกทางประตู ไม่มีใครมาต้อนรับถือว่าเสียศักดิ์ศรีรัฐสภา ทำให้นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.ลุกขึ้นประท้วงตอบโต้สส.พรรค พท.ว่า พยายามเตะถ่วงร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ของพรรค ก.ก.ที่จะนำเข้าสู่วาระลำดับถัดไป แต่นายธีระชัยยังตั้งหน้าตั้งตาอภิปรายต่อ ขณะที่สส.พรรค ก.ก. พากันประท้วงต่อเนื่อง ในที่สุดนายพิเชษฐ์ปิดไมโครโฟนไม่ให้นายธีระชัยพูด แต่นายธีระชัยยังตะโกนพูดไม่หยุด แม้นายพิเชษฐ์ขอร้องให้นายธีระชัยหยุดแต่ก็ยังไม่หยุด จนนายพิเชษฐ์ต้องตะโกนน้ำเสียงขึงขังว่า “จะฟังผมไหม จะหยุดพูดไหม” แล้วสั่งให้นั่ง นายธีระชัยถึงยอมนั่งลง จากนั้นนายพิเชษฐ์แจ้งที่ประชุมว่า สัปดาห์หน้าจะนัดประชุม วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และตัวแทนฝ่ายรัฐบาล เพื่อประสานลำดับความสำคัญของกฎหมายที่จะพิจารณา ก่อนตัดบทเข้าวาระปกติก.ก.ชงศึกษาขอบเขตศาล รธน.อีกเรื่อง นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่า ได้ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาฯตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติว่า จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ หรือคดีล้มล้างการปกครองของพรรค ก.ก. ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๙ ก.พ. พรรคเห็นว่ามีประเด็นบางประการ ที่กระทบกับการทำหน้าที่และการปฏิบัติงาน สส. รวมถึงสมาชิกรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ สภาฯจึงควรมีการศึกษาโดยเร่งด่วน เนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในหลายกรณี กระทบกับดุลยภาพทางอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว คลุมเครือเป็นการตีความจนส่งผลต่อการขยายเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ล้นเกินไปจากกระบวนการตรวจสอบความชอบตามรัฐธรรมนูญ สมควรที่สภาฯต้องศึกษาการใช้อำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วนวางแนวทางแบ่งแยกอำนาจให้ชัดนายชัยธวัชกล่าวว่า ญัตติดังกล่าวเป็นเพียงญัตติเพื่อเสนอให้มีการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้ไปกระทบต่อคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้เป็นการเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลใดๆทั้งสิ้น แต่เพื่อกำหนดแนวทางทำงานตามกระบวนการนิติบัญญัติ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต ป้องกันการขยายอำนาจจนทับซ้อนกัน และรักษาไว้ซึ่งดุลยภาพแห่งหลักการแบ่งแยกอำนาจ อย่างน้อยที่สุดการศึกษากรณีนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนในฝ่ายนิติบัญญัติ และหากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคต ก็เป็นฐานทางวิชาการนำไปสู่การพิจารณาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดียิ่งขึ้นอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
ซักฟอกต้น เม.ย. เขย่ารัฐบาล เพิกเฉยนโยบาย ขรก.รีดไถ-มาเฟียเกลื่อน
Related posts