Sunday, 19 January 2025

พิพัฒน์ ตอบกระทู้สด กองทุนประสังคมไม่ล้มละลายในปี ๒๕๙๗ ปัดยกเลิกเลือกตั้งบอร์ด

“พิพัฒน์” รัฐมนตรีว่าการแรงงาน ตอบกระทู้สด “วรภพ” สส.ก้าวไกล ยัน กองทุนประสังคมไม่ได้ล้มละลายในปี ๒๕๙๗ แต่จะเริ่มขาดทุนหากไม่มีการเก็บเพิ่ม เล็งเสนอรัฐส่งเข้ากองทุนเพิ่มเป็น ๕% ย้ำ ไม่ยกเลิกเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเมื่อเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคม ว่า โดยเริ่มตั้งคำถามว่า กองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า เป็นข้อมูลจริงหรือไม่ หลังมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๙๗ กองทุนประกันสังคม มีความเสี่ยงที่เงินสำรองจะติดลบ หรือล้มละลาย ทำให้คนที่จ่ายเงินประกันสังคมอาจจะไม่ได้รับเงินเกษียณ อีกทั้งมองว่าการเก็บเงินกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันเป็นเหมือนกับการเก็บเงินจากคนรุ่นหลังไปจ่ายคนรุ่นก่อนหรือผู้ที่เกษียณ จึงอยากทราบความกระจ่าง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ไม่ปฏิเสธ หากไม่มีการแก้ไข แก้ปัญหาในสิ่งต่างๆ จะทำให้ปี ๒๕๙๗ เราจะไม่เข้าสู่จุดสมดุล โดยหลังจากปี ๒๕๙๗ หากเป็นบัญชีก็คือขาดดุล ต้องมีการขาดทุนในทุกปี แต่ปัจจุบันนี้ยังมั่นใจว่า กองทุนประกันสังคมยังไม่มีความเสี่ยง และขอให้เข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม นายวรภพ เข้าสู่คำถามต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการแรงงาน มีนโยบายที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร เพราะต้องมีการปฏิรูปประกันสังคม และการปฏิรูปก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดความพึงพอใจทุกฝ่าย แต่เป็นไปเพื่อแก้ไขระเบิดเวลาที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงต้องขอความชัดเจน ในเมื่อทุกอย่างเริ่มต้นจากความเชื่อมั่น ความไว้วางใจกันระหว่างผู้ประกันตน นายจ้าง และภาครัฐ ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูล สมมติฐานต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ทางประกันสังคมจะมีการเปิดเผยเมื่อใด เพื่อให้สาธารณะเข้าใจตรงกันว่าสถานะกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันเป็นอย่างไร เหตุใดต้องมีการปฏิรูป และจะบังคับให้จ่ายเพิ่มทำไม พร้อมกันนี้ อยากให้มีการทบทวนแนวทางการแก้ไขด้วย ทำไมการปฏิรูปประกันสังคมจึงไม่เปลี่ยนไปในรูปแบบที่คล้ายกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คือ ลงทุนเท่าไร ผลตอบแทนเท่าไร ก็เป็นเงินบำนาญเท่านั้น เพราะจะยั่งยืนกว่าและไม่เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง อีกทั้งเกิดคำถามตามมาอีกว่า เป็นนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการแรงงาน หรือไม่ที่จะยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) แล้วใครจะเป็นตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้างในการที่จะมั่นใจว่าประกันสังคมมีการบริหารจัดการเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกันตนและนายจ้าง ที่จ่ายเงินสะสมทุกเดือน  จากนั้น รัฐมนตรีว่าการแรงงาน ลุกขึ้นตอบว่า ประเด็นจะมีการยกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ยืนยันว่าสิ่งที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผลการศึกษาเมื่อปี ๒๕๖๔ ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ จึงไม่สามารถถอนเรื่องเพื่อไปทำการศึกษาใหม่ หากถอนเรื่องคงต้องใช้เวลาไปน้อยกว่า ๑ ปี จึงมีความจำเป็นที่ต้องนำร่างเดิมเข้า ครม. และให้ ครม. พิจารณาก่อนนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ บอร์ดประกันสังคมที่มีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ และตนลงนามรับรองไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เพราะฉะนั้น ผลของบอร์ดประกันสังคม ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ ๗ คน มีผลบังคับใช้แล้ว โดยร่างกฎหมายดังกล่าวหากผ่าน ครม. และเข้าสู่สภา ก็จะขอแก้ไขคำในชั้นกรรมาธิการว่า ในเหตุสุดวิสัย หากว่าไม่สามารถมีการเลือกตั้งได้ ขอให้รัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหาคณะกรรมการประกันสังคม เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เช่น กรณีเกิดภัยสงคราม หรือมีโรคระบาด เช่น โควิด-๑๙ ทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้“ผมขอยืนยัน ขณะนี้คณะกรรมการประกันสังคม ชุดที่มีการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ ขณะนี้ได้มีการทำหน้าที่เรียบร้อย ขอยืนยันนะครับ”สำหรับเรื่องกองทุนประกันสังคม นายพิพัฒน์ กล่าวว่า หากเราไม่ทำอะไร และยังเก็บตามปกติในเพดาน ๑๕,๐๐๐ บาท ผู้ประกันตนจ่าย ๕% นายจ้างจ่าย ๕% รัฐ ๒.๗๕% แน่นอนว่าหลังปี ๒๕๙๗ จะเป็นตามคาดการณ์ แต่ผลตอบแทนในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ ๒-๓% โดยในปี ๒๕๖๖ เรามีดอกผลจากเงินกองทุนประกันสังคมเกือบ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท คือไม่ถึง ๓% ดี แต่นโยบายของตนหลังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะควบคุมดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งนโยบายว่า “หลังจากปี ๒๕๖๘ เราจะต้องเอาเงินกองทุนไปหาดอกผลให้ได้ไม่น้อยกว่า ๕% ในปีนี้เรามั่นใจว่าเราน่าจะทำได้อยู่ในช่วง ๓-๔% ในปี ๒๕๖๗” นี่จึงเป็นเงื่อนไขข้อแรกที่จะเป็นการยืดชีวิตกองทุนประกันสังคม ส่วนที่ ๒ เราต้องยืดเพดานการเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคมจาก ๑๕,๐๐๐ บาท โดยในปี ๒๕๖๘ มีความตั้งใจว่าเราจะนำเสนอการขยายเพดานไปที่ ๑๗,๕๐๐ บาท จะเป็นอีกส่วนที่ช่วยยืดชีวิตกองทุน และสิ่งสำคัญคือตนเองไม่สามารถทำคนเดียวได้ อยากให้ สส.ทุกคน ช่วยกันอภิปรายในสภา เพราะทุกวันนี้รัฐเข้ากองทุนส่งเพียง ๒.๗๕% เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะทำให้กองทุนประกันสังคมยืดชีวิตออกไปจนไม่มีคำว่าสิ้นสุด รัฐควรสมทบที่ ๕% ได้แล้ว ส่วนเงื่อนไขเวลาคงต้องหารือกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ นายพิพัฒน์ ระบุว่า จะขอเชิญทุกพรรคการเมืองมาร่วมเสวนาเรื่องกองทุนประกันสังคม ว่าเราจะหาทางออกอย่างไรให้เงินกองทุนไม่มีคำว่าสิ้นสุด และอย่าลืมว่ากองทุกประกันสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น แต่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันคิด ไม่ใช่การเอาเงินสมทบของคนรุ่นใหม่มาจ่ายให้คนรุ่นเก่าที่เกษียณอายุ ที่สำคัญอีกประการ คือต้องหาวิธีคิดว่าที่ ๖๐ ปีพอหรือไม่ เราจะค่อยๆ ขยับการเกษียณไปจนถึง ๖๕ ปี ขณะเดียวกัน ต้องเรียนตรงๆ ก่อนที่จะเข้ามาชี้แจงในสภาฯ แห่งนี้ ก็ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของประกันสังคมว่า พวกคุณคิดในปี ๒๕๙๗ นั่นหมายความว่าถึงจุกพีกสุดและเริ่มดรอปลงเนี่ย คุณคิดเฉพาะคนที่เกษียณอายุ แต่เมื่อถึงปี ๒๕๙๗ แล้ว คนที่เกษียณอายุไปแล้วจะเข้ามาเคลมประกันสังคมจะลดน้อยลง เราอย่าเอาฐานของช่วงพีกสุดมาเป็นตัวชดเชย เพราะฉะนั้นอีก ๓๐ ปี คนที่จ่ายเงินในขณะนี้ ที่อายุใกล้เคียง ๕๕ ปี อีก ๓๐ ปีก็ ๘๕ ปี ถ้าตามอายุเฉลี่ยของคนไทยก็คิดว่าคงไม่ได้รับเงินประกันสังคม หรือเบี้ยชรา หรือบำเหน็จแล้ว ถึงตอนนั้นตนคิดว่าเราคงจะเอาเงินก้อนสุดท้ายคืนให้เขาไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเขาจาโลกใบนี้ไป ในช่วงท้าย รัฐมนตรีว่าการแรงงาน กล่าวเชิญชวนทุกพรรคการเมืองส่งตัวแทนมาช่วยกันหารือ และคิดว่า สิ่งที่จะแก้ปัญหากองทุกประกันสังคมอย่างยั่งยืน จะเป็นไปในทิศทางใด อย่าต้องให้กระทรวงแรงงานต้องรับผิดชอบและรับภาระกระทรวงเดียว เพราะผู้ใช้แรงงานในไทย ตามมาตรา ๓๓ มีประมาณ ๑๒ ล้านคน มาตรา ๓๙ ประมาณ ๑ ล้านคน และมาตรา ๔๐ อีกประมาณ ๑๑ ล้านคน รวมแล้ว ๒๕ ล้านคน จึงอยากให้ช่วยกัน และขอยืนยันว่า กองทุนประกันสังคมไม่ใช่ว่าจะหมดในปี ๒๕๙๗ แต่ในปีนั้นผลของรายได้กับรายจ่ายจะเท่ากันพอดี โดยหลังจากปี ๒๕๙๗ จึงจะเริ่มขาดทุนของเงินที่เก็บเข้ามา แต่ในขณะนี้กองทุนประกันสังคมมีเงินทุนเมื่อสิ้นปี ๒๕๖๖ อยู่ประมาณ ๒.๔๙๗ ล้านล้านบาท ซึ่งใน ๒๕๖๖ มีการใช้จ่ายประมาณ ๑.๔๑๓ ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นเมื่อหักล้างกันเรายังมีเงินเข้ากองทุกอีก ๑.๕๖๙ ล้านบาท ขณะที่เมื่อถึงปี ๒๕๙๗ เราน่าจะมีเงินกองทุนเกือบ ๖ ล้านล้านบาท “แต่หลังจากนั้นไปอีกกี่สิบปี ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ชัดเจนครับ สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมเราให้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่การเก็บคงที่ อย่างไรก็ถึงจุดล้มละลายอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ตัวผมเองก็ไม่อยากที่จะแก้ตัวหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ขอเชิญชวนพวกเราหารือกันอย่างครบทุกพรรค ขอให้ให้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกๆ พรรคช่วยนำเสนอ เพื่อมาทำการหารือ และกระทรวงแรงงานจะเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาในครั้งนั้น เพื่อหาทางออกให้กับประกันสังคม ตัวผมเองไม่ใช่พระเอก แต่ผมเองก็ไม่ยอมรับที่จะเป็นผู้ร้ายว่าเป็นคนที่ทำให้กองทุกประกันสังคมล้มละลาย เพราะฉะนั้น ในยุคนี้สมัยนี้พวกเราควรจะต้องหาทางออกร่วมกัน” โดย นายพิพัฒน์ ชี้แจงจบในเวลา ๑๓.๒๒ น.