Thursday, 19 December 2024

ใช้ AI  Deepfake หลอกโอนเงิน

07 Mar 2024
125

คุณกวี ชูกิจเกษม ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พาย ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กถึงแฟนคลับว่า “เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมานี้ พี่กวีได้ไปดำเนินการแจ้งความที่ สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เรียบร้อยแล้ว ในกรณีมิจฉาชีพใช้ชื่อ “คุณกวี ชูกิจเกษม” แอบอ้างเพื่อหลอกลวงให้นักลงทุนทำธุรกรรม รวมถึงการให้ข้อมูลเพื่อเชิญชวนลงทุนในรูปแบบต่างๆ” หลังจากที่พบโฆษณาบนเฟซบุ๊กเป็นภาพและเสียงของคุณกวี ชักชวนให้เข้าไลน์กลุ่มเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการลงทุน โดยภาพและเสียงในเฟซบุ๊กนี้สร้างขึ้นจาก AI Deepfake ของกลุ่มมิจฉาชีพสำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า คุณกวีได้แจ้งความพร้อมกับติดต่อเฟซบุ๊กเพื่อดำเนินการ แต่ทางเฟซบุ๊กแจ้งกลับมาว่า “ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะทางเพจดังกล่าวทำถูกกติกาในการโฆษณา” แสดงถึงความไม่รับผิดชอบของเฟซบุ๊ก ถ้าเป็นยุโรปถูกปรับแน่นอน นี่คือความล้าหลังของประเทศไทย ทั้งที่มีกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรงAI Deepfake เป็นการใช้ Generative AI ที่กำลังโด่งดังจาก ChatGPT แต่ถูกนำมาใช้ในทางมิจฉาชีพด้วยการสร้างภาพและเสียงเลียนแบบคนจริงที่มีชื่อเสียง เพื่อหลอกเงินจากผู้หลงเชื่อ โดยการนำภาพใบหน้าของคนดังมาให้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เรียนรู้ลักษณะการเคลื่อนไหวของใบหน้า นํ้าเสียงและโทนเสียงการพูด จากภาพในวิดีโอหรือภาพถ่าย แล้วเอไอก็จะสร้างภาพและเสียงออกเป็นคลิปวิดีโอ ให้พูดหรือแสดงท่าทางต่างๆเหมือนคนคนนั้นได้เลย  ถ้าไม่สังเกตละเอียดจะแยกไม่ออกว่าเป็นของปลอมนี่คือมหันตภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลกในวันนี้และในอนาคต  ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ออกมาปกป้องประชาชน ทั้งที่ กระทรวงดิจิทัลฯ มีงบสูงถึงปีละ ๘-๙ พันล้านบาทที่ผ่านมารัฐบาลไทยส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ข้อมูลสิ้นปี ๒๕๖๖ มีคนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงถึง ๘๘.๒% หรือ ๕๘.๒๒ ล้านคน จากประชากร ๖๖ ล้านคน ๘๕.๔๕% หรือ ๕๖.๔ ล้านคน ใช้เน็ตเกือบทุกวัน ๕-๗ วันต่อสัปดาห์ และ ใช้เน็ตสูงถึง ๗.๒๕ ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นสถิติประเทศที่ใช้เน็ตสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประชากรโลกไปมากแต่การเข้าถึงเน็ตของคนไทย ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทำให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่หลอกให้โอนเงินไม่เว้นแต่ละวัน สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานถึงการใช้เน็ตของคนไทยในปี ๒๕๖๖ ว่า อันดับหนึ่ง ๙๒.๔๖% ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ รองมา ๙๑.๕% ใช้สนทนา แชต และส่งข้อความหากัน ๗๒.๙๘% รับชมวิดีโอคอนเทนต์ ๖๓.๔๗% สนทนาบนบล็อกและกระทู้ ๔๕.๕๕% โอนเงินผ่านเว็บไซต์ ช็อปปิ้งออนไลน์ และสแกนคิวอาร์โค้ด ส่วนการใช้หาความรู้ เรียนออนไลน์ หรือเรียนทางไกลอยู่อันดับ ๑๐ มีเพียง ๓๓.๗๙% เท่านั้น  จึงไม่แปลกที่ถูกหลอกลวงได้ง่ายไม่เพียง คุณกวี เท่านั้นที่ถูก AI Deepfake  สร้างวิดีโอมาหลอกแฟนคลับให้ลงทุน “มิสเตอร์บีสต์” ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลกกว่า ๒๐๐ ล้านคน ก็ถูกมิจฉาชีพสร้าง deepfake หลอกลวงเงินแฟนคลับมาแล้ว แต่กรณีของ “มิสเตอร์บีสต์” หลอกได้ง่าย เพราะปกติเขาชอบแจกรถยนต์ บ้าน และเงินสดให้กับผู้ติดตามเขาอยู่แล้ว  การมอบโทรศัพท์ไอโฟนจึงหลอกคนให้หลงเชื่อจำนวนมากการหลอกลวงผ่าน AI Deepfake ในวันนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ลิเลียน เอ็ดเวิร์ดส์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายบอกกับบีบีซีว่า “นับวันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศมีกฎหมายที่แตกต่างกัน เราจะใช้กฎหมายอะไรกับกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อ บริษัทสัญชาติอเมริกันถูกมิจฉาชีพปลอมแปลงเนื้อหาเพื่อหลอกเงินจากชาวอังกฤษ และโพสต์คอนเทนต์ลงในแพลตฟอร์มของจีน”  เรื่องเงินเรื่องการลงทุน ผมยังชอบการสัมผัสกับมนุษย์ตัวเป็นๆ  หรือ Human Touch   ครับ เพราะยังเป็นวิธีการลงทุนที่ยังปลอดภัยที่สุดครับ.“ลม เปลี่ยนทิศ”คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม