Sunday, 22 December 2024

๕ ปี สอวช. ชู Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล ต้นแบบพัฒนาเศรษฐกิจ

๕ ปี สอวช. ชู “Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล” ต้นแบบพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในการแก้ปัญหาความยากจน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ ให้เกิดผู้ประกอบการท้องถิ่นบนฐานนวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งเมื่อวันที่ ๗ มี.ค. ๖๗ ด็อกเตอร์กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) เปิดเผยว่า ในช่วง ๕ ปี ของการดำเนินงาน สอวช. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เป็นรากฐานของการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมของประเทศ โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ลงไปทำงานกับกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ดึงมหาวิทยาลัย มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับประชาชน โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งจากสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการท้องถิ่นบนฐานนวัตกรรม ในการพัฒนาสินค้าและบริการ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  ด็อกเตอร์กิติพงค์ กล่าวอีกว่า สอวช. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดทำ “โครงการวิจัย Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล” เพื่อพัฒนาและทดลองเชิงนโยบาย ออกแบบกลไกการพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจฐานราก โดยการนำเอาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ นวัตกรรม ไปเป็นเครื่องมือในการช่วยเพิ่มรายได้ประชากรกลุ่มฐานราก และยกระดับศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ ในกลุ่มที่มักขาดโอกาส อีกทั้งยังเข้าไปสร้างระบบนิเวศสนับสนุนทางการเงิน ทักษะผู้ประกอบการ เชื่อมโยงตลาด พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยให้เป็นวิสาหกิจเริ่มต้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้นำชุมชนและเยาวชนและกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประมง โดยโครงการจะลงไปจุดประกายให้คนในชุมชนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเองบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน พัฒนาออกมาเป็นสินค้าและบริการ ซึ่งจากการดำเนินงาน ๒ ปีที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาธุรกิจในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดปัตตานี รวม ๘ ตำบล อย่างน้อย ๑๙ ธุรกิจ อาทิ กลุ่มการให้บริการนวดแผนมลายู กลุ่มท่องเที่ยวแม่น้ำสายบุรี กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้ามุสลิม กลุ่มเบเกอรีเด็กกำพร้า กลุ่มแปรรูปกล้วย กลุ่มผลิตถ่านจากกะลามะพร้าว และกลุ่มแปรรูปกุ้งแห้ง โดยหลังจากผ่านการพัฒนาธุรกิจพบว่าผู้ประกอบการชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๒๘๐,๐๐๐ บาทต่อปีต่อราย และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เฉลี่ย ๖ รายต่อผู้ประกอบการ ส่งผลให้แรงงานเกิดรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๖,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อราย นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ ๓ ราย  ด็อกเตอร์กิติพงค์ ยังได้ยกตัวอย่าง ตลาดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่ บพท. ให้การสนับสนุน โดยนำวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในรูปแบบตลาดวัฒนธรรม ประชาชนจะนำสินค้าพื้นบ้านหรือสินค้าในชุมชนมาจำหน่าย แต่เดิมสินค้าขายได้ในราคาไม่สูง แต่เมื่อนำนักออกแบบลงไปช่วย ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้หลายเท่า เช่น เสื่อกระจูด จากที่เคยขายเป็นผืน ราคาผืนละ ๑๐๐-๑๕๐ บาท เมื่อนำมาพัฒนาเป็นกระเป๋าส่งขายในตลาดวัฒนธรรม และในห้างสรรพสินค้า สามาถขายได้ถึงใบละ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท และยังมีสินค้าพื้นบ้านอีกมากมายที่ได้รับการยกระดับ จนก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนต่อครั้งประมาณ ๕-๖ แสนบาท ตลาดวัฒนธรรมทุ่งสงจัดมาเกือบ ๒๐๐ ครั้ง มีเงินหมุนเวียนกว่าร้อยล้านบาท ถือเป็นตัวอย่างของการสร้างรายได้และกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนโดยตรง  ด็อกเตอร์กิติพงค์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยในกำกับของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะคอยให้การสนับสนุน และเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนความรู้ ส่งเสริมการวิจัย การอบรมถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการจากศักยภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ๆ รวมไปถึงพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้น โดยให้การสนับสนุนใน ๕ กลุ่มกิจกรรม คือ ด้านเกษตรและอาหาร ด้านพลังงานชีวภาพ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นวัตกรรมสำหรับสังคมสูงอายุ และกลุ่มนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ในแต่ละกลุ่มกิจกรรมก็จะมีศูนย์กลางนวัตกรรม หรือ Innovation Hubs ที่ให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการและชุมชน ซึ่งปัจจุบันมี Innovation Hubs ๑๘ แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ.