Sunday, 19 January 2025

สุทิน ยันได้เรือดำน้ำแน่ ส่วนเรือฟริเกต รองบปีอื่น ไม่กังวลถูกอภิปรายปม ทักษิณ

“สุทิน” ยัน ทร.ได้เรือดำน้ำแน่ ส่วนเรือฟริเกตอาจเป็นงบปีอื่น ปัดเอางบไปใช้ดิจิทัลวอลเล็ต กันงบกลาโหมโป่งพอง ไม่กังวลประชาธิปัตย์จองกฐินอภิปรายรัฐบาลเรื่อง “ทักษิณ” ย้ำ ไม่ล้ำเส้นพูดเรื่องเกาะกูด เป็นหน้าที่ ก.ต่างประเทศ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๗ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ประชุมมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของ ผู้อำนวยการศรชล. โดยมี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะ รอง ผู้อำนวยการศรชล. พร้อมด้วยอธิบดีและผู้แทนหน่วยงานของ ศรชล. ทั้ง ๗ หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนจากจังหวัดชายทะเล ๒๒ จังหวัด เข้าร่วมประชุมนายสุทิน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ตีตกคำอุทธรณ์กองทัพเรือในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย ว่า ทางกรรมาธิการได้สะท้อนปัญหา และได้ทวงถามนโยบายของรัฐบาลว่า ถ้าจะให้ทั้งเรือฟริเกตและเรือดำน้ำในปีเดียวกัน งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมจะโป่งพองขึ้น สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่จะลดบุคลากรและงบประมาณลงหรือไม่ จึงต้องมีการปรับแผน แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่าโครงการจัดหาเรือฟริเกตยังคงเป็นไปตามแผน เพียงแต่ระยะเวลาต้องปรับเปลี่ยน อาจจะไม่ใช่ปีงบ ๒๕๖๗ แต่ขยับไปเป็นปีงบประมาณอื่น เพราะขณะนี้เรื่องเรือดำน้ำก็อาจจะได้ข้อสรุป ซึ่งมีแนวโน้มจะต้องจัดงบซื้อเรือดำน้ำ จึงห่วงว่างบประมาณจะไม่พอ ต้องทำทีละอย่าง ซึ่งทางกรรมาธิการคุยกับรัฐบาลก็มีความเห็นเป็นเช่นนี้ โดยอาจจะจัดหาในปีงบ ๒๕๖๘ส่วนคำถามว่างบประมาณปี ๒๕๖๘ จะไปชนกับกองทัพอากาศ ที่ขอจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ ซึ่งจะดันเพดานของกระทรวงกลาโหมสูงอีกเช่นกันหรือไม่ นายสุทิน ระบุว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมต้องบริหารจัดการให้ดี ทุกอย่างเราอยากให้เป็นไปตามแผนของเหล่าทัพ แต่จะสลับปรับเปลี่ยนอย่างไรเป็นเรื่องที่กำลังทำอยู่ เมื่อถามต่อไปว่างบประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาท ของกองทัพเรือ จะนำเข้างบกลาง หรือคืนให้กองทัพเรือ นายสุทิน ตอบว่า หากเป็นไปตามระบบ ก็ต้องนำเข้างบกลาง แต่ถ้างบก้อนนี้กองทัพเรืออยากได้เงินส่วนนั้นมาทำภารกิจอื่น เช่น การซ่อมบำรุงยุทธโธปกรณ์ ก็ต้องทำเรื่องขึ้นมาให้ทันก่อน ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๗ ที่จะปรับปรุงงบประมาณรอบสุดท้าย และเชื่อว่าทางรัฐบาลจะพิจารณาให้กลับมาเป็นประโยชน์กับกองทัพเรือ เมื่อถามต่อไป ตามแนวทางของกระทรวงกลาโหม หากเหล่าทัพหนึ่งได้จัดซื้อโครงการใหญ่ เหล่าทัพอื่นจะไม่ได้ใช่หรือไม่ นายสุทิน ระบุว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ทุกเหล่าทัพสามารถจัดซื้อได้ เพียงแต่เหล่าทัพจะต้องมีการปรับ เช่น หากกองทัพเรือจะซื้อเรืออะไร ก็ต้องขยับนิดหน่อย เช่นเดียวกับกองทัพอากาศที่จะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ ซึ่งยังต้องเป็นไปตามแผนของแต่ละเหล่าทัพอยู่สำหรับการที่ต้องนำเงินส่งงบกลาง เพราะต้องนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลหรือไม่ นายสุทิน บอกว่าไม่เกี่ยวกันกับโครงการดังกล่าว เป็นเรื่องการจัดงบประมาณของแต่ละเหล่าทัพ ว่าจะเอาอะไรก่อนหลัง และต้องอยู่ในกรอบนโยบายของรัฐบาล เรียกว่าหมุนและปรับงบในส่วนของกระทรวงกลาโหม ไม่มีเรื่องนโยบายอื่นมาเกี่ยวข้องในเรื่องความคืบหน้าการหาข้อสรุปโครงการเรือดำ รัฐมนตรีว่าการกลาโหม กล่าวว่า น่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ เมื่อสรุปแล้วน่าจะต้องเป็นเรื่องที่ใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหา เบื้องต้นแนวโน้มก็คือเรือดำน้ำ แต่จะเป็นที่ไหนอย่างไรต้องฟังคณะทำงาน ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ยกเลิกเรือดำน้ำจีนแล้วไปจัดหาจากชาติอื่น ต้องไปสอบถามคณะทำงาน แต่แนวทางที่จะเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือชนิดอื่นคงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะจากการสอบถาม พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาโครงการเรือดำน้ำ ก็บอกว่าต้องเป็นเรือดำน้ำ ส่วนจะเป็นเรือที่ไหนอย่างไร กรรมการยังคุยกันไม่เสร็จ แต่คาดว่าไม่เกิน ๑ เดือนขณะที่ประเด็นฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา ๑๕๒ ในส่วนของกระทรวงกลาโหม นายสุทิน กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบถึงรายละเอียดและเนื้อหาที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย อาจเป็นเรื่องโดยรวม แต่คาดว่าน่าจะเป็นการอภิปรายแบบเหวี่ยงแหไปทุกที่ทุกกระทรวง ผู้สื่อข่าวถามต่อ เรื่องที่ดินจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหลัก โดยเฉพาะที่ดินที่เป็นข้อพิพาท ทั้งหนองวัวซอ จ.อุดรธานี และเขาใหญ่ รวมถึงความพยายามในการดึงกองทัพเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องนั้น นายสุทิน มองว่า ก็ดึงได้ทุกกระทรวง ดึงอะไรก็พร้อมชี้แจง พร้อมตอบ ทางด้านคำถามว่า การอภิปรายครั้งนี้เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียงเพื่อคะแนนนิยมของพรรคหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกลาโหม ระบุว่า ก็เป็นจังหวะในการอภิปรายของฝ่ายการเมือง ซึ่งแน่นอนเขาต้องคิดว่าเป็นการทำคะแนนนิยมของตนเอง และทำลายความนิยมฝ่ายตรงข้ามเป็นธรรมดา ยืนยันว่าไม่มีอะไรหนักใจ หากมีปัญหาที่ถูกหยิบยก ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็แก้ไขกันไปเรื่อยๆ ส่วนการทำงานกับชาวบ้านก็จะมีปัญหาเยอะหน่อย ก็ต้องอดทนผู้สื่อข่าวถามต่อไปถึงภาพใหญ่ของการอภิปราย ที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะอภิปรายเรื่อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกระบวนการยุติธรรมนั้น นายสุทิน เผยว่า ก็มีการชี้แจงมาเป็นลำดับ ตามระบบกฎหมาย ยืนยันว่าไม่หนักใจ และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า อีกทั้ง รัฐบาลสามารถรับมือกับการอภิปรายครั้งนี้ได้ ไม่ได้กลัว ไม่ได้หนักใจ เชื่อว่าฝ่ายค้านคงกลัวตกคิวสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อเห็นการอภิปรายของ สว. แล้วมีคนตำหนิ จึงเปิดอภิปรายบ้างก็เท่านั้นเองนอกจากนี้ ในกรณี One Maps มีความคืบหน้าไปตามลำดับ ได้มีการประชุมไปนัดล่าสุดได้วิธีและนโยบายการทำงานแล้ว โดยจะจัดประชุมอีกครั้งเพื่อจะให้จบภายใน ๒ เดือน ซึ่งตนก็จะเร่งให้ประชุม และจะแจ้งในที่ประชุมว่า ต่อไปนี้หากลงพื้นที่ก็จะให้ลงไปในลักษณะเป็นคณะ One Maps จะไม่ให้ไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อความเข้าใจและความรวดเร็วอย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกลาโหม ยังได้กล่าวถึงการเดินทางไปประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ มีนาคม ๒๕๖๗ เป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับการเดินทางไปกัมพูชาของคณะ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาจเกี่ยวพันเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงานหรือไม่ ว่า เป็นวาระปกติที่มีมาก่อนแล้ว และมีการประชุมทุกปี ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น ส่วนที่กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เรียกร้องให้พูดให้ชัดเรื่องสถานะของเกาะกูดนั้น ตนคิดว่าทหารหรือกลาโหมจะไปพูดชัดเลยไม่ได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปพูดออกหน้าหรือล้ำหน้าไปก็ไม่ถูก จึงต้องพูดตามบทหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น.