Sunday, 19 January 2025

“ชาญชัย” ชี้ช่อง ใช้ ม.๑๐๓/๗ ยื่นอุทธรณ์คดีโรดโชว์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้

“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” งัด ม.๑๐๓/๗ กฎหมาย ป.ป.ช. ปี ๕๔ หนุนอุทธรณ์คดี “โรดโชว์ รัฐบาลปู” ใช้งบฯกลาง ๒๔๐ ล้าน ที่เอื้อตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งของข้าราชการที่มีอำนาจในการใช้งบฯจัดซื้อจัดจ้าง ต้องสั่งจ่ายเงินเป็นเช็คหรือโอนเงิน โดยห้ามเบิกจ่ายเป็นเงินสดวันที่ ๙ มี.ค. ๒๕๖๗ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปี พ.ศ.๒๕๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๔ และเป็นผู้เสนอยกร่างมาตรา ๑๐๓/๗ พร้อมคณะกมธ.ชุดดังกล่าว  ขอชี้แจงถึงความสำคัญของ มาตรา ๑๐๓/๗ ที่บรรดานักการเมืองและข้าราชการเกรงกลัวกฎหมายมาตรานี้ เพราะมีความสำคัญและเคยถูกใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น จนเป็นที่มาของการถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งและถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาแล้ว“โดยมาตรา ๑๐๓/๗ บัญญัติไว้ว่า ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในกรณีที่มีการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบุคคล หรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ให้บุคคล หรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น มีหน้าที่แสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต่อกรมสรรพากร นอกเหนือจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจำปีเพื่อให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีเงินได้ ในโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด จะเห็นได้ว่ากฎหมาย ป.ป.ช.มาตรานี้ ระบุชัดในวรรคที่สอง เพื่อเป็นการตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งของข้าราชการที่มีอำนาจในการใช้งบฯจัดซื้อจัดจ้าง และผู้ประมูลงานก่อสร้าง หรืองานอื่นของรัฐ โดยต้องสั่งจ่ายเงินเป็นเช็ค หรือโอนผ่านสถาบันการเงินพร้อมระบุชื่อผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน โดยห้ามเบิกจ่ายเป็นเงินสด เพื่อป้องกันและตรวจสอบการทุจริต ฮั้วประมูลงาน หรือการกระทำทุจริตผิดกฎหมาย” นายชาญชัย กล่าว นายชาญชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มาตรา ๑๐๓/๗ วรรคสี่ ยังกำหนดให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยที่จะจัดซื้อจัดจ้างต้องโชว์ราคากลางและวิธีการคำนวณภายใน ๖ เดือนหรือ ๑๘๐ วัน โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ ป.ป.ช.ที่ ๐๐๒๘/๐๐๙๓ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน๒๕๕๔  แจ้งเพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ขณะนั้นรับทราบว่า กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี ๒๕๕๔ มาตรา ๑๐๓/๗ และ๑๐๓/๘ มีผลบังคับใช้แล้ว การเปิดประมูลงานของรัฐเพื่อใช้งบประมาณแผ่นดิน ต้องมีการโชว์ราคากลางและวิธีการคำนวณให้ประชาชนรับทราบภายใน ๑๘๐ วันตามกฎหมายกำหนด แต่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร.๐๕๐๕/ว ๒๖๕ วันที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๕๔ (หน้า๒)แจ้งกลับมาว่า คณะรัฐมนตรีไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. โดยอ้างว่า เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ ต่อมา ทางป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งกลับถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๕๕ เรื่องการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยย้ำว่ากฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและมีผลบังคับใช้กับทุกหน่วยงานของรัฐแล้วจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะถือว่าจงใจทำผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ “จากนั้นวันที่ ๑๖ มี.ค. ๒๕๕๕ สำนักเลขาธิการนายกฯได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรื่องการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยส่งสำเนาหนังสือของสำนักงาน ป.ป.ช. ด่วนที่สุดที่ ปช.๐๐๒๘/๐๐๑๕  วันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๕๔ อ้างถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. กราบเรียนนายกฯ เพื่อพิจารณานำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๔ ให้หน่วยงานของรัฐต้องทำตามกฎหมาย ป.ป.ช.ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการนายกฯ ได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบแล้ว จึงส่งเรื่องมาที่สำนักงานเลขาธิการ ครม. ให้พิจารณาขอความเห็นในเรื่องนี้ต่อกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้น ครม. ได้มีมติเมื่อ ๑๒ ก.พ. ๒๕๕๖ เห็นชอบให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ.๒๕๕๔ มาตรา ๑๐๓/๗ และ๑๐๓/๘ โดยการเปิดเผยราคากลางและวิธีการคำนวณราคาในการจัดซื้อจัดจ้างตามที่ ป.ป.ช.และกระทรวงการคลังเสนอ แต่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามว่าจ้างบริษัทเอกชนสองแห่งใช้งบกลางในการจัดโรดโชว์เมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๖ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวโดยไม่ได้ปฏิบัติตามกฏหมาย ป.ป.ช. ปี ๒๕๕๔ มาตรา ๑๐๓/๗ ที่ตัวเองมีหนังสืออนุมัติให้ปฏิบัติตามกฎหมายเมื่อเดือน ส.ค. ๒๕๕๖ แต่กลับประกาศข้อมูลภายหลังจากที่ทำสัญญาว่าจ้างงานบริษัทเอกชนไปแล้ว  ก่อนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยุคนั้น เพียงวันเดียวคือ วันที่ ๒๖ พ.ย. ๒๕๕๖” นายชาญชัย กล่าวและว่า ขอให้ติดตามตอนต่อไปว่า ทำไม แม้แต่ทหารที่ปฏิวัติยึดอำนาจมา ยังกลัวกฎหมายดีๆ มาตรานี้ แม้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง แต่กลับสั่งยกเลิกการบังคับใช้มาตรานี้ออกจาก กฎหมายป.ป.ช. ปัจจุบัน