Monday, 23 September 2024

ไทยยกระดับเฝ้าระวัง “โรคแอนแทรกซ์” หลังพบผู้ป่วยในลาว เข้มป้องกันลักลอบนำเข้า

รองโฆษกรัฐบาล เผย พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ ๓ รายในลาว จากการกินเนื้อวัว-เนื้อควายดิบ กรมปศุสัตว์ยกระดับเฝ้าระวัง เข้มด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนไทย-ลาว ป้องกันลักลอบนำเข้าวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๗ น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้แจ้งเตือนการพบโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในลาว โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเนื้อโค-กระบือดิบ โดยเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ มีรายงานข่าวต่างประเทศว่า พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ ๓ ราย ที่เมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสำหรับโรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacillus anthracis) สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนเข้าไป เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมสร้างสารพิษทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด ทั้งนี้ ระหว่างสัตว์ป่วย เชื้อถูกขับออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ หรือน้ำนม เมื่อเปิดผ่าซากเชื้อสัมผัสกับอากาศจะสร้างสปอร์ทำให้คงทนในสภาพแวดล้อมได้นาน โค กระบือ แพะ และแกะ ที่ป่วยจะมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ จะตายอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ ซากไม่แข็งตัว สำหรับคนที่ผ่าซากหรือบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้แบบสุกๆ ดิบๆ จะพบแผลหลุมตามนิ้วมือ แขน หรือช่องปาก และมีอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โรคนี้ทำให้คนตายได้หากตรวจพบโรคช้าน.ส.เกณิกา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนไทย-ลาว เข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าโค กระบือ แพะ และแกะที่มีชีวิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้วย เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรค และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองอยู่เสมอ รวมถึงขอย้ำให้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุก และเป็นเนื้อสัตว์ที่ทราบแหล่งที่มาเท่านั้นหากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป พบโค กระบือ แพะ แกะ แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน ห้ามเปิดผ่าซาก ห้ามเคลื่อนย้ายซากหรือชำแหละเพื่อการบริโภค ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน DLD ๔.๐ หรือโทรศัพท์สายด่วน ๐๖-๓๒๒๕-๖๘๘๘ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที