Sunday, 19 January 2025

ปี ๖๗ ร้อนสุดขั้วทุบสถิติ อุณหภูมิแตะ ๔๕ องศาฯ

11 Mar 2024
123

ประเทศไทยปีนี้ “เตรียมรับมือสภาพอากาศร้อนตับแตก” ทำลายสถิติในรอบ ๗๓ ปี นับแต่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ ๒๑ ก.พ.-ปลาย พฤษภาคม๒๕๖๗ คาดว่า จะร้อนกว่าปกติประมาณ ๑-๒ องศาฯโดยเฉพาะประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ ๔๒-๔๔.๕ องศาฯ อย่าง จ.แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี ในส่วน “กรุงเทพฯ” อุณหภูมิสูงสุด ๔๐-๔๑ องศาฯ “ภาคใต้” ปลาย ก.พ.-เม.ย. อุณหภูมิสูงสุด ๔๐-๔๑ องศาฯ สาเหตุนั้น รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่าตามการประเมินภาพรวมอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๑-๒ องศาฯ กลายเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า “ฤดูร้อน” ตั้งแต่เดือน ก.พ.-พฤษภาคมนี้จะร้อนจัดมากกว่าปีที่แล้ว ๑-๒ องศาฯทำให้ในปี ๒๕๖๗ “ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๔” แต่คำถามว่าจังหวัดไหนร้อนสุด หรืออุณหภูมิระดับใดเรื่องนี้ต้องย้อนหลังดูสถิติ “อุณหภูมิสูงสุด” แล้วนำมาบวกปัจจัยสถานการณ์เป็นค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ประมาณ ๐.๓ องศาฯ ดังนั้น ในปี ๒๕๖๗ “อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดคาดว่าน่าจะอยู่ที่ ๔๔.๖-๔๔.๙ องศาฯ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.ลำปาง จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก เพราะเป็นพื้นที่ราบสูง และไม่มีป่าปกคลุมอันเกิดจากการถูกทำลายไปจำนวนมาก ถัดมาคือ “ภาคอีสาน” อย่างเช่น จ.อุบลราชธานี แม้เป็นพื้นที่ราบสูงแต่ยังมีพื้นที่การเกษตรสามารถบรรเทาอากาศร้อนลงได้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดน่าจะอยู่ที่ ๔๑-๔๒ องศาฯ “กรุงเทพฯ” อันเป็นเขตเมืองเก็บสะสมความร้อนได้ดี แต่ด้วยที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลมักมีความชื้นเข้ามาในพื้นที่ช่วยคลายอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดจะอยู่ที่ ๓๗-๓๘ องศาฯเช่นเดียวกับ “ภาคใต้” ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูมรสุมเข้าสู่ “ฤดูร้อน” ทำให้สภาพอากาศเริ่มดีขึ้นกำลังเหมาะกับการท่องเที่ยว “อุณหภูมิไม่น่าเกิน ๔๐ องศาฯ” เพราะมีลมทะเล ๒ ฝั่ง คอยช่วยผ่อนคลายทว่าปัจจัยนำไปสู่ “อากาศร้อนสุดรอบ ๗๓ ปี” มีสาเหตุมาจาก ๓ เรื่องคือ เรื่องแรก…“อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี” ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงกว่าปกติ เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสได้ ในเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน ๒ องศาฯ หรือไม่เกินขีดจำกัด ๑.๕ องศาฯเริ่มจากในระยะสั้น “ทุกประเทศ” ต้องร่วมมือช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า ๔๓% หรืออย่างน้อยปีละ ๘% ในปี ๒๕๗๓ แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับปล่อยมากจนอุณหภูมิทั่วโลกสูงเฉลี่ย ๑.๒ องศาฯเมื่อเป้าหมายระยะสั้นล้มเหลว โดยเฉพาะจีน ใช้ถ่านหินลิกไนต์ผลิตรถไฟฟ้าส่งออก และประกาศจะจำกัดการปล่อยคาร์บอนไม่ให้มีปริมาณสูงเกินสถิติในปี ๒๕๖๗ “แต่ก็ไม่อาจทำได้” ต้องกลับมาประกาศเป็น Net Zero ปี ๒๖๐๘ เช่นเดียวกับ “อินเดียจีดีพีโต ๗%” แต่ก็พึ่งพาถ่านหินในสัดส่วนที่มากจนต้องประกาศเป็น Net Zero ปี ๒๖๑๓สะท้อนให้เห็นว่า “เป้าการลดอุณหภูมิสูงของโลก ๑.๕ องศาฯ กำลังถูกทำลายลงแล้ว” เพราะไม่มีบทลงโทษทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ กลับกลายมาเป็นการปรับระดับการลดอุณหภูมิไม่เกิน ๒ องศาฯแทน ในส่วนประเทศไทย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ” เคยประกาศยกระดับแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศให้บรรลุเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ๒๕๙๓ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero ในปี ๒๖๐๘ “แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่” เพราะแนวทางการดำเนินการยังไม่มีให้เห็นชัดเจนด้วยซ้ำแล้วกติกา Net Zero ระบุชัดว่า “ห้ามขุดน้ำมันแห่งใหม่” ดังนั้นกรณีไทย-กัมพูชามีแผนร่วมขุดเจาะพลังงานในทะเลอาจทำผิดกติกา แม้ไม่มีบทลงโทษแต่อาจถูกบีบด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศแทนซํ้าร้ายถ้าไม่สามารถทำได้ “ตามประกาศเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero” ประเทศไทยอาจต้องเผชิญสงครามทางการค้าโดยเฉพาะ “การนำเข้าจะบีบให้ราคาสูง” ท้ายที่สุดภาระต้องมาลงกับผู้บริโภคเจอภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) แพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน เรื่องนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลกังวลมากที่สุดต่อมาปัจจัยเรื่องที่ ๒…“ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ด้วยประเทศไทยกำลังเผชิญเอลนีโญตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ ทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์นี้รุนแรง “อุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ ๐.๒ องศาฯ” ทำให้ปีนี้ต้องเจออากาศร้อน และภัยแล้งจัดเรื่องที่ ๓…“การครบรอบจุดระเบิดบนดวงอาทิตย์” อันเป็นปรากฏการณ์ของดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานมากที่สุดในทุก ๑๑ ปี ทำให้โลกได้รับอิทธิพลจากรังสีเพิ่มมากขึ้น “อุณหภูมิจะสูงอีก ๐.๑ องศาฯ” ดังนั้น สรุปได้ว่าปัจจัยทั้ง ๓ เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนเป็นเหตุให้ปี ๒๕๖๗ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นราว ๑.๕๒ องศาฯ แน่นอนตอกย้ำจากงานวิจัยของ PNAS บ่งชี้ว่า “โลกอาจจะหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน ๒ องศาฯไม่ได้” ที่มีความเป็นไปได้มากกว่า ๘๔% ในปี ๒๖๐๑ และปี ๒๖๐๘ เพราะมีการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกในระดับสูง ทำให้อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อ “มนุษยชาติ” มีความเสี่ยงที่จะเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วโดยไม่อาจกลับไปสู่สภาวะสมดุลได้ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสิ้นสลายปะการังในมหาสมุทร รวมทั้งการสูญเสียระบบนิเวศบนโลก และมนุษย์มีขีดจำกัดการปรับตัวได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นฉะนั้น ในขีดจำกัดนี้ “ต้องไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน ๑.๕ องศาฯ” เพราะในปี ๒๕๖๖ อุณหภูมิโลกแตะเกิน ๑.๕ องศาฯ ๑๘๐ วัน หรือครึ่งปี จึงต้องจับตาสถานการณ์ปีนี้เพียงเข้าต้นเดือน กุมภาพันธ์จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาก็ชี้อุณหภูมิสูงสุดแตะ ๓๘-๓๙ องศาฯ ที่ จ.กาญจนบุรี “อากาศร้อนมากกว่าปกติ” ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้นตามมา ล่าสุด “อุณหภูมิโลกรอบ ๓๖๕ วัน ถึงเดือน มกราคม๒๕๖๗ เพิ่มขึ้น ๑.๕๒ องศาฯ” จากข้อมูล C๓S/ECMWS แม้จะยังไม่เข้าเกณฑ์เฉลี่ยระยะยาว ๑.๕ องศาฯ “ตามข้อตกลงปารีส” แต่ก็เป็นสัญญาณว่า เราคงจะหนีไม่พ้นความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๗ เริ่มจากคลื่นความร้อน และไฟป่าในชิลี หรือน้ำท่วมหนักในรัฐแคลิฟอร์เนียเช่นเดียวกับ “ประเทศไทย” อาจต้องเผชิญกับความร้อน และภัยแล้งจัดรุนแรง ๔ เท่า อย่างเช่นสมัย ๑๐ ปีที่แล้ว เคยเกิดภัยแล้ง ๑ ครั้ง “แต่เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ๑.๕๒ องศาฯ” ย่อมทำให้มีความเสี่ยงเกิดภัยแล้ง ๔ ครั้ง หรือ ๒ ปี/ครั้ง อีกทั้งยังตามมาด้วยฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่รุนแรง ๒ เท่า หรือ ๕ ปี/ครั้งไม่เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “ประเทศไทย” เจอทั้งความร้อน ความแห้งแล้ง ไฟป่า ฝุ่นพิษ ดังนั้น ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ “ต้องระวังรักษาสุขภาพ” ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ที่รู้สึกร้อน พืช และสัตว์ก็มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เช่น เต่าแม่น้ำแอมะซอน หรือปลาฉลามบางชนิดอาจสูญพันธุ์ประการต่อมา “ปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลง” เรื่องนี้น้ำอุปโภค-บริโภคไม่มีปัญหาใดๆ “แต่น้ำการเกษตรมีปัญหาแน่” ด้วยในขณะพืชบางชนิดอย่าง “ข้าว” รัฐบาลประกาศให้ปลูกนาปังเพียงรอบเดียวแต่ด้วย “ราคาข้าวสูงขึ้น” กลายเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกเกินแผนของรัฐบาลประมาณ ๑๘๐% เพราะตามแผนให้ปลูกไม่เกิน ๓ ล้านไร่ ตอนนี้ปลูกทั่วประเทศ ๘ ล้านไร่ ในจำนวนนี้เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ ๖ ล้านไร่ แล้วมีการเก็บเกี่ยวเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ปลูกรอบ ๒ ทันที แต่น้ำมีจำกัดอาจไม่ได้รับน้ำจนเกิดความเสียหายนอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า “ผลผลิตพืชชนิดอื่นจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” โดยเฉพาะทุเรียน เจ้าของสวนภาคตะวันออกบ่นว่า ผลผลิตน่าจะลดลงประมาณ ๓๐% “ทุเรียนภาคใต้” ผลผลิตลดลงกว่า ๙๐% เพราะอากาศที่ร้อนจัดทุเรียนขาดน้ำทำให้ปีนี้การจัดการน้ำเผชิญความเสี่ยง และความท้าทายสูงนับจากนี้ต่อไปดังนั้น ทางเลือกมีไม่มากว่า “จะอยู่กับปัจจุบันหรืออยู่กับอนาคตที่ไม่แน่นอน” เพราะช่วงครึ่งปีหลัง เอลนีโญจะเปลี่ยนผ่านสู่ลานีญาแบบอ่อน-ปานกลาง และกลับมาเป็นเอลนีโญในปี ๒๕๖๘ “ฝนจะมาปกติแต่ภาคเหนือ-ภาคอีสานตอนบนไม่ดี” ควรออกแบบฉากทัศน์เดินอย่างระมัดระวัง ถ้าผิดพลาดความเสียหายจะตามมานี่คือสถานการณ์โลกปัจจุบัน “อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ๑.๕๒ องศาฯ” ทำให้ประเทศไทยเพียงแค่เดือน กุมภาพันธ์อากาศก็ร้อนมากแล้ว แต่เรายังต้องเจอของจริง “ร้อนสุดขั้วที่ไม่เคยมีมาก่อน” ในช่วงเดือน มี.ค.-เมษายน๒๕๖๗ ดังนั้น พี่น้องคนไทยต้องตื่นตัวเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ และไกลนี้ด้วย.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม