Sunday, 19 January 2025

เครื่องมือหินในยูเครนเป็นหลักฐานเก่าแก่

เครื่องมือหินที่สร้างมาจากหินภูเขาไฟซึ่งแตกเป็นชิ้น ถูกขุดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ จากเหมืองในเมืองโคโรเลโว เชิงเขาคาร์เพเทียน ริมแม่น้ำไทซา ในยูเครน เป็นชายแดนติดกับฮังการีและโรมาเนีย ซึ่งถูกทีมวิจัยที่มีทั้งนักโบราณ คดีจากสถาบันวิทยาศาสตร์เช็ก นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออร์ฮุส ในเดนมาร์ก นำมาวิเคราะห์ศึกษาใหม่ จนสามารถระบุว่านี่เป็น หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการมีอยู่ของมนุษย์ในยุโรป ทีมวิจัยเผยว่า ใช้วิธีการหาอายุโดยใช้รังสีคอสมิก โดยกำหนดอายุของชั้นตะกอนตรงที่พบเครื่องมือหิน ทำให้ระบุอายุชั้นตะกอนรอบๆ เครื่องมือหินนี้ได้ว่ามีอายุมากถึง ๑.๔ ล้านปี หักล้างหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ในยุโรปอายุประมาณ ๑.๒ ล้านปี ถึง ๑.๑ ล้านปีจากแหล่งโบราณคดีที่เรียกว่าอาตาปวยกา (Atapuerca) ในสเปน และถึงแม้จะไม่แน่ชัดว่ามนุษย์กลุ่มใดเป็นเจ้าของเครื่องมือหินเหล่านี้ เนื่องจากไม่มีซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล แต่นักวิจัยเชื่อว่าเครื่องมือหินพวกนี้อาจเป็นของกลุ่มมนุษย์โฮโม อิเลดตัส (Homo erectus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์แรกที่เดินตัวตรงและเชี่ยวชาญการใช้ไฟ และเป็นสายพันธุ์มนุษย์ยุคแรกๆที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๒ ล้านปีก่อน แล้วก็แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคแอฟริกา เอเชีย และยุโรป ก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว และเป็นไปได้ว่าเครื่องมือหินที่บิ่นเหล่านี้น่าจะใช้ตัดเนื้อสัตว์และอาจใช้ขูดหนังสัตว์.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่