Sunday, 17 November 2024

"เสรี" ตัดพ้อ สว.ได้เวลาอภิปรายรัฐบาลน้อยไป จ่อ ปรับลดผู้อภิปรายฯ

เสรี สุวรรณภานนท์ ตัดพ้อ สว.ได้เวลาอภิปรายตามม.๑๕๓ น้อยไป ภาวนาให้ “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา” อยู่ถึง ๒๕ มีนาคมวันซักฟอก เตรียม ปรับลดผู้อภิปรายฯ บอก หากรัฐบาลใจกว้างหน่อย น่าจัดเวลาให้สัก ๒ วัน  วันที่ ๑๑ มี.ค. ๖๗ ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีการเตรียมความพร้อม สำหรับการอภิปรายของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๓ ว่า มีความพร้อม จากการที่เราได้ให้ สว. ได้รับทราบประเด็นและญัตติที่เราเสนอประเด็นสำคัญ เพื่อให้ สว. ได้ประชุมเกี่ยวกับการให้รัฐบาลมาชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน มีสมาชิกประมาณ ๓๐ คน ที่แสดงความจำนงขออภิปราย แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลา จากที่ขอรัฐบาลไป ๒ วัน ซึ่งรัฐบาลกำหนดเวลาให้อภิปราย ๑๒ ชั่วโมง จึงทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้มีปัญหาเราจึงได้หารือร่วมกันว่า ท่านใดที่มีประเด็นเดียวกันหรือคล้ายกัน ก็อาจจะมอบหมายให้ท่านอื่นเป็นคนอภิปรายฯ คนเดียวในประเด็นนั้น และมอบเวลาให้กับคนที่มีข้อมูลมากกว่า เพื่อให้การอภิปรายมีประโยชน์กับที่ประชุม รัฐบาล และพี่น้องประชาชน โดยขณะนี้มีผู้อภิปราย ๓๓ คน ซึ่งทำให้เวลาแยกย่อยมากไป แต่ก็ยังมีเวลาอยู่ ในการทำความเข้าใจ และตกลงร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้ได้สาระมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งคงจะต้องมีการขอความร่วมมือ เพื่อปรับลดจำนวนคน“ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญ ใจกว้างหน่อย ก็น่าจะจัดเวลาให้ได้สัก ๒ วัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์กับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเอง เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาล เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน จริงๆ ไม่น่าไปจำกัดอะไรกันมากมาย” นายเสรี กล่าว…สว.เสรี กล่าวต่อว่า ได้ขอเวลาเพิ่มไปตั้งแต่แรกแล้ว แต่รัฐบาลยืนยันอย่างนี้ จึงทำให้มีเวลาน้อยเกินไป ซึ่งเราก็ได้บอกรัฐบาลไปว่า การที่วุฒิสภาขอเปิดอภิปรายทั่วไป เป็นเรื่องของการนำประเด็นปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินมาพูดคุยกันในสภา รัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญ แต่รัฐบาลเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ตอนแรกก็พยายามที่จะหาคนมาติดต่อ เพื่อไม่ให้สามารถลงชื่อได้ครบ แต่พอได้ชื่อครบ ก็ไปกำหนดเวลาพูด ข้อสำคัญคือพยายามจะดึงเวลาให้ไกลออกไปอีก“จริงๆ ถ้าเห็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของบ้านเมือง รัฐบาลต้องขวนขวาย รีบประชุม รีบนำประเด็นข้อเสนอเอาไปแก้ไขปัญหา เอาไปบริหารประเทศ แต่นี่กลายเป็นให้ความสำคัญน้อย จึงทำให้รัฐบาลเสียประโยชน์ เสียโอกาส เสียความน่าเชื่อถือ” นายเสรี กล่าวส่วนจะถือเป็นการทิ้งทวนได้หรือไม่นั้น ก็อาจจะบอกได้ เพราะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายแล้ว จะทิ้งทวน ทิ้งหอก ทิ้งดาบอะไร ก็ถือเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่เราพยายามทำให้ดีที่สุด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราไม่ค่อยมีโอกาสแบบนี้ เพราะกว่าสมาชิกจะทำความเข้าใจ ก็ไม่ง่าย ถ้าเข้าใจกันง่ายๆ คงยื่นไปตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลควรต้องเข้าใจ สว.เองก็ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ยื่นอภิปราย แล้วจะกลายเป็นล้มรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องเหล่านั้นเลยเมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลอาจจะอ้างได้ว่า ยังไม่ได้ใช้งบประมาณนั้น สว.จะมีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องใช้งบประมาณหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับเรื่องใช้งบประมาณหรือไม่ เพียงแต่มีคนในรัฐบาลเอามาอ้างว่า ที่ยังไม่ทำ เพราะไม่มีงบประมาณ มันไม่ใช่ รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณตามกฎหมายเดิมได้อยู่แล้ว พอกฎหมายใหม่ออกมา รัฐบาลก็เอามาใช้ได้ จำนวนเงินก็จำนวนเงินเดิม เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ถ้าพูดอย่างนี้ คนไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ไปเชื่อคนที่อ้าง เป็นคนละเรื่อง แม้ไม่มีงบประมาณ แต่มีกฎหมายที่จะสามารถจัดงบฯ ได้อยู่แล้ว“เรื่องที่อยากพูดถึงมากที่สุด จากขอบข่ายการอภิปรายทั้ง ๗ ประเด็นนั้น มีเรื่องที่สมาชิกแสดงความจำนงไว้มากที่สุด คือเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ความลำบากของประชาชน ที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นการแก้ผิดทาง” นายเสรี ระบุเมื่อถามว่า มีการประเมินภายหลังจาก สว.หมดวาระ ที่อาจมีแรงกระเพื่อมไปถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า “ก็อาจถูกมองได้ การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี มีการพูดกันมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว มีนายกรัฐมนตรี ๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ผมก็ยังภาวนาให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอยู่ให้ถึงวันที่ ๒๕ มี.ค. ถ้าอยู่ก็จะได้อภิปรายกัน ถ้าเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ก่อน ๒๕ มี.ค. คณะรัฐมนตรี ก็ต้องหมดไป การอภิปรายก็อาจจะสิ้นผลไป”