“เศรษฐา” กล่าวปาฐกถางานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ หรือ MIPIM ๒๐๒๔ ย้ำศักยภาพ ๓ โครงสร้างพื้นฐานของไทย “ศูนย์กลางการบิน – Landbridge – พลังงานสีเขียว” ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้า ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจวันนี้ (๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗) เวลา ๑๑.๑๐ น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย ๖ ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ (MIPIM ๒๐๒๔) และกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหัวข้อ “Better Infrastructures in an Age of Risk, Scarcity and Emergency” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ณ Palais des Festivals เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ รัฐบาลส่งเสริมความเท่าเทียมกันผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อมั่นว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าและการเข้าถึงทุกภาคส่วน นำไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่เพียงสำหรับผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังมอบโอกาสให้กับทุกคนในทุกพื้นที่ด้วยทั้งนี้ ไทยที่ได้เปิดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิในกรุงเทพมหานคร เมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่ประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงทศวรรษก่อนที่สนามบินจะสร้างแล้วเสร็จ มีจำนวนนักเดินทางเพิ่มขึ้นที่ ๗๑% และทศวรรษต่อมามีการเติบโตกว่า ๑๑๐% ในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก ความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมหลายมิติ รวมถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งในยุคที่มีความเสี่ยงรอบด้าน ความขาดแคลน และสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันและทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญสำหรับสังคม นายกรัฐมนตรีจึงได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ของรัฐบาลและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความสำคัญกับ ๓ ด้านหลัก ได้แก่ด้านศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินหลักของภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ ไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอินโดจีน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เมืองใหญ่ๆ ทั่วเอเชียใช้เวลาบิน ๔-๖ ชั่วโมง ซึ่งกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว ได้ต้อนรับผู้โดยสารมากกว่า ๖๐ ล้านคนต่อปี จึงต้องการขยายขีดความสามารถให้รองรับนักเดินทางได้มากขึ้น โดยมีแผนจะขยายสนามบินที่มีอยู่และสร้างสนามบินใหม่ ทั้งการขยายสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อเพิ่มอาคารผู้โดยสารใหม่ และสร้างรันเวย์อีก ๒ แห่ง เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ ๑๕๐ ล้านคนต่อปีขณะเดียวกัน รัฐบาลจะสร้างสนามบินใหม่อีก ๒ แห่งในภาคเหนือและภาคใต้ โดยสนามบินนานาชาติล้านนา (Lanna International Airport) จะเป็นสนามบินแห่งที่ ๒ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คึกคักในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ ขณะที่สนามบินนานาชาติอันดามัน (Andaman International Airport) ในจังหวัดพังงา ซึ่งใกล้กับจังหวัดภูเก็ต จะช่วยเสริมศูนย์กลางการบินเชื่อมเส้นทางระยะไกลในภาคใต้ของประเทศไทย โดยสนามบินทั้งสองแห่งนี้จะรองรับผู้โดยสารรวมกันได้สูงสุดถึง ๔๐ ล้านคนต่อปี อีกทั้ง รัฐบาลมีแผนจะปรับปรุงการบริการสำหรับผู้มาเยือนทุกคนที่เดินทางผ่านสนามบินของไทย ได้แก่การปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานภาคพื้นดินและการลดระยะเวลารอผู้โดยสารขาเข้าและขาออกการขยายและจัดสรรเวลาจัดการการบินขึ้น-ลงใหม่ (landing and take-off slots) เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศการลดค่าธรรมเนียมการลงจอด (landing fees) และเพิ่มค่าธรรมเนียมการล่าช้า (delay fees) เพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อขายและรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้นการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทั้งปฏิบัติการภาคพื้นดินและปฏิบัติการทางอากาศการเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเส้นทางใหม่สู่ประเทศไทย และอื่นๆ อีกมากมายโดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยจะเป็นผู้นำภูมิภาคในฐานะศูนย์กลางการบิน ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านต่างๆ ด้านโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge Project) เป็นรากฐานสำคัญของการเชื่อมต่อทางทะเลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ปัจจุบันเราเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมาก จากการพึ่งพาช่องแคบมะละกาเพียงอย่างเดียวในการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยปัจจุบัน ๒๕% ของสินค้าทั่วโลกผ่านช่องแคบดังกล่าว ซึ่งในแต่ละปี เรือจำนวน ๙๐,๐๐๐ ลำ ต้องแล่นผ่านเส้นทางน้ำที่คับคั่ง ส่งผลให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้าและต้องเข้าคิวจำนวนมาก ซึ่งภายใต้โครงการ Landbridge ถนนและรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึก ๒ แห่ง โดยตัดผ่านภาคใต้ของไทย และเป็นทางเลือกเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรทั้งสองแห่ง ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่มีความสำคัญจากมุมมองเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาการค้าการลงทุนของโลกและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โลก รัฐบาลจึงเชื่อมั่นว่า โครงการ Landbridge จะประสบความสำเร็จและสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความเป็นกลาง พร้อมเปิดรับทุกภาคส่วนเสมอ ด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสีเขียว (Green Energy Infrastructure) โครงการและการลงทุนที่สำคัญส่วนใหญ่นับจากนี้ ล้วนต้องการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนในราคาที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายของการมีพลังงานทดแทน ๕๐% ของการผลิตภายในปี ๒๕๘๓ รวมทั้งไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศต้นๆ ที่เปิดตัวโครงการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่ลงทุนในประเทศไทยมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้ในปีต่อๆ ไปในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า โครงการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของไทย ไม่เพียงสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ยังรวมถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้วย โดยเมื่อเกิดความร่วมมือกัน จะไม่ใช่เพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น รัฐบาลกำลังสร้างการเชื่อมต่อที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจและประชาชนเข้าด้วยกัน ขอให้ผู้เข้าร่วมทุกคนพิจารณาการมีส่วนร่วม เปลี่ยนวิสัยทัศน์เหล่านี้เป็นความจริง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสำหรับงาน MIPIM ๒๐๒๔ เป็นงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับนานาชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕ มีนาคม ๒๕๖๗ มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่กว่า ๑๘,๗๐๐ ตารางเมตร พร้อมด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ การเสวนา และการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์.