Thursday, 19 December 2024

หนุนขยายสิทธิวันลาคลอด ๑๘๐ วัน

น.ส.ธัญมน สว่างวงศ์ จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจความเห็นคนงานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดโดยรอบ ๑,๔๓๗ คนต่อการขยายวันลาและสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด พบว่า ๖๙.๔% ยังไม่มีแผนมีลูกใน ๕ ปีข้างหน้า เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กลัวเงินไม่พอค่าคลอด ค่าเลี้ยงลูก ๓๙.๑% กลัวไม่มีเวลา ขาดคนช่วยเลี้ยง ๒๔.๙% เมื่อถามถึงการใช้สิทธิลาคลอดตามกฎหมายพบว่า แรงงาน ๗๘.๒% ใช้สิทธิลาคลอด ๙๐-๙๘ วัน ๑๔.๕% ลาเพียง ๓๐-๕๙ วัน เหตุผลที่ลาคลอดไม่ครบวันตามที่กฎหมายกำหนด เพราะต้องรีบกลับมาทำงาน ต้องการมีรายได้/ต้องการโอทีเพิ่ม กลัวถูกลดโบนัส เมื่อดูในส่วนสวัสดิการของรัฐพบว่าแรงงานหญิง ๕๙.๔% ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ๖๐๐ บาท แต่กว่า ๙๖.๖% ได้รับเงินจากเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม ๘๐๐ บาทขณะที่ ปัญหาด้านสุขภาพหญิงหลังคลอด พบร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ๔๗.๙% สุขภาพอ่อนแอ เจ็บแผลคลอด ๒๙.๕% เครียด ซึมเศร้าหลังคลอด ๑๔.๑% ส่วนการให้นมลูกพบว่า  สถานที่ทำงานหรือสภาพการทำงานไม่เอื้ออำนวย เช่น ไม่มีห้องปั๊มนม ไม่มีตู้แช่เก็บนม ต้องทำงานไม่มีเวลาปั๊มนม ๕๐.๓% ส่งผลให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วง ๖ เดือนแรกมีเพียง ๑๑.๕% ส่วนใหญ่จะดื่มนมแม่ กับนมผง ๖๔.๑% เมื่อถามถึงสวัสดิการภาครัฐ พบสูงถึง ๙๙.๓% ที่เห็นว่าควรเพิ่มสวัสดิการค่าคลอดบุตรจาก ๑๕,๐๐๐ บาทเป็น ๓๐,๐๐๐ บาท ที่สำคัญแรงงานกว่า ๙๖.๕% เห็นด้วยกับการขยายสิทธิวันลาคลอดเพิ่มจากเดิม ๙๘ วันเป็น ๑๘๐ วันและอีกกว่า ๙๓.๗% เห็นด้วยกับการให้สิทธิพ่อลาได้ ๓๐ วันเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูกน.ส.ธัญมนกล่าวว่า ดังนั้นการสนับสนุนการขยายสิทธิลาคลอด ๑๘๐ วันและสวัสดิการที่เอื้ออำนวยให้แรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น นโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้นนั้น ต้องแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายของแรงงาน.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่