Sunday, 19 January 2025

ให้สิทธิตัดขาด

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากที่บ้านหรือที่อื่นใดในโลก โดยไม่จำเป็นต้องเข้าที่ทำงาน ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ บวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล ทำให้การติดต่อเป็นไปอย่างง่ายดาย ผลักดันให้ขอบเขตระหว่างชีวิตส่วนตัวที่บ้านกับเวลาทำงานพังทลายกลายเป็นเส้นเบลอๆ ที่ไม่ชัดเจนยิ่งไปกว่านั้นการที่ต้องรับสายหรือข้อความติดต่อหลังเลิกงานจากผู้จ้างหรือหัวหน้างานยังอาจกระตุ้นให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าต้องเตรียมพร้อมทำงานตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียด เหนื่อยหน่าย อาจถึงขั้น “หมดไฟ” ได้ไม่ยาก อีกทั้งยังเกิดคำถามว่าละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของพนักงานหรือไม่ ไปจนถึงประเด็นค่าล่วงเวลา??ที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรปเล็งเห็นความสำคัญจึงออกกฎหมายให้ “สิทธิในการตัดการสื่อสาร” (Right to disconnect) แก่พนักงาน หรือที่บางท่านอาจใช้คำว่า “สิทธิในการตัดการเชื่อมต่อ” เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างจากการถูกติดต่อนอกเวลาทำงานอย่าง “ไม่สมเหตุสมผล” อย่างเช่น ฝรั่งเศส เป็นชาติแรกบุกเบิกก่อนใครมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ รวมทั้งสเปน เบลเยียม และโปรตุเกส เป็นต้น ขณะที่ “ออสเตรเลีย” เป็นประเทศล่าสุดที่ผ่านกฎหมายดังกล่าว เปิดทางเลือกให้ลูกจ้างปฏิเสธที่จะติดตาม อ่าน หรือตอบสนองต่อการติดต่อใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนอกเวลาทำการได้ โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่ว่าจะต้อง “สมเหตุสมผล” ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ของออสเตรเลียมีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองลูกจ้างจากการถูกลงโทษที่ไม่ตอบรับโทรศัพท์ อีเมล ข้อความที่ไม่สมเหตุสมผลจากนายจ้างหรือบุคคลที่ ๓ ในเวลาส่วนตัวที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ห้ามนายจ้างติดต่อกับลูกจ้างนอกเวลาทำงานตราบใดที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งกฎหมายนี้ยังให้สิทธิลูกจ้างร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการเพื่อสั่งให้นายจ้างหยุดการติดต่อนอกเวลาทำงานที่เหลวไหลไร้เหตุผลได้ และหากพบว่าละเมิดกฎหมาย อาจต้องรับโทษปรับสูงสุด ๑๘,๐๐๐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว ๔๒๑,๐๐๐ บาท ได้ใจชาวออสซี จนทำให้ผลสำรวจสาธารณะของยูกอฟ (YouGov) ล่าสุด พบว่ามีประชาชนหนุนกฎหมายดังกล่าวสูงถึง ๘๖%ส่วนลูกจ้างชาวไทยก็ไม่ต้องอิจฉา เพราะมีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้สิทธิลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อสื่อสารเรื่องงานหลังเวลาทำงานหรือเมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้วมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จะทำได้จริงจังแค่ไหนยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามผล ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ก็กำลังพิจารณากฎหมายลักษณะดังกล่าวเช่นกัน.อมรดา พงศ์อุทัยคลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม