Thursday, 19 December 2024

เผยยอดไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ สำเร็จแล้ว ๒๑,๕๘๓ ราย มูลหนี้ลดลง ๘๙๓ ล้าน

ปลัดมหาดไทย เผยยอดเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว ๓๓,๐๐๕ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว ๒๑,๕๘๓ ราย มูลหนี้ลดลง ๘๙๓ ล้านบาท เน้นย้ำทุกจังหวัดเร่งดำเนินการให้ครบทุกกรณี ๑๐๐%วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า หลังจากเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล โดยมีประชาชนมาลงทะเบียนทั้งสิ้น ๑๕๓,๔๐๐ ราย กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ทุกจังหวัด อำเภอ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น.ที่ผ่านมา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง รายงานข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศ มีจำนวนลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ๓๓,๐๐๕ ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๒๑,๕๘๓ ราย มูลหนี้ลดลงรวม ๘๙๓.๔๕๔ ล้านบาท และมีกรณีที่เจ้าหนี้-ลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดี ๓๔๘ คดี จังหวัดที่สามารถเชิญเจ้าหนี้-ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากที่สุด ๕ ลำดับ ๑. จังหวัดสงขลา ๓,๕๗๕ ราย ๒. จังหวัดนครสวรรค์ ๒,๖๖๙ ราย ๓. จังหวัดนครราชสีมา ๒,๑๗๗ ราย ๔. จังหวัดนครศรีธรรมราช ๑,๕๓๕ ราย๕. จังหวัดนราธิวาส ๑,๓๒๕ ราย ทั้งนี้ เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพบปะพูดคุยกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นคนกลาง ซึ่งจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ติดตามผลภายหลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประสบความสำเร็จครบทั้งกระบวนการต่อไป “เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ วันนี้สงขลา ยังเป็นจังหวัดที่มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยมากที่สุด ๓,๕๗๕ ราย และมีจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนราธิวาสดำเนินการกระบวนการไกล่เกลี่ยกับผู้ที่มาลงทะเบียนครบ ๑๐๐% แล้ว จึงขอให้ทุกจังหวัดที่เหลือบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เร่งรัดให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ครบทุกกรณี เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้รวดเร็วและเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยของทุกกรณี หากไม่สามารถใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยได้ ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทันที เพราะหนี้นอกระบบถือว่าผิดกฎหมาย คือ มีการปล่อยกู้โดยไม่มีใบอนุญาต อีกทั้งยังเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”ขณะเดียวกัน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคลินิกแก้ไขหนี้ พร้อมเน้นย้ำให้กำชับนายอำเภอ มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ในฐานะเลขานุการกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) ดำเนินการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน (เมนูแก้จน) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ลูกหนี้ซึ่งประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือให้สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มต่อยอดในการสร้างอาชีพ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนนายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า “แม้การรับลงทะเบียนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะปิดรับไปแล้ว แต่กระบวนการดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนยังไม่สิ้นสุด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ดำเนินการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ สามารถติดต่อผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยได้ ทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือโทรสายด่วน ๑๕๖๗ โดยจะมีเจ้าหน้าที่บริการตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”