Sunday, 19 January 2025

“โรคแอนแทรกซ์ คืออะไร”

15 Mar 2024
87

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นเส้นยาวรี (Gram positive rod) มักพบในดิน และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์ที่เลี้ยงในบ้าน หรือสัตว์ป่าได้โรคนี้พบได้ทั่วโลก แต่เร็ว ๆ นี้มีข่าวการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงทำให้มีคนสนใจมากขึ้น และแนะนำให้เฝ้าระวังกัน โดยคนเราสามารถรับเชื้อนี้ได้ จากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่าง ๆ เช่น ผม ขน เนื้อหรือนม แต่แอนแทรกซ์จะไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้คนเราติดได้อย่างไรคนเราสามารถติดได้เมื่อสปอร์ของแบคทีเรียเข้ามาในร่างกาย และได้รับการกระตุ้น จนเกิดการแบ่งตัว และกระจายไปส่วนของร่างกาย แบคทีเรียจะผลิตสารพิษ (toxins) และทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ สปอร์สามารถเข้าร่างกาย ทั้งทางการหายใจ การโดนบาดหรือมีแผลที่ผิวหนัง ดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ หรืออาหารสุกดิบ นอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก็มีความเสี่ยงสูงแอนแทรกซ์แบ่งเป็น ๔ ชนิด ซึ่งมีอาการและอาการแสดงแตกต่างกัน เนื่องจากสปอร์ของแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง อาการจึงสามารถแบ่งได้ดังนี้แอนแทรกซ์ในทางเดินหายใจ มักเกิดจากที่สูดดมเชื้อแบคทีเรียเข้าไป มักพบในคนที่สัมผัสผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีการปนเปื้อน เช่น ในอุตสาหกรรมที่มีการตัดขนสัตว์ หรือแปรรูปขนสัตว์ให้เป็นเสื้อผ้า มีรายงานในคนที่ตีกลองขนสัตว์ (animal hide drums) มักมีอาการไข้ หนาวสั่น อึดอัด แน่นหน้าอก หายเหนื่อย ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน สับสน มึนหัว ปวดหัว เหงื่อออกมากจนชุ่ม อ่อนเพลียมากและปวดเมื่อยตามตัวแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง มักเกิดจากการปนเปื้อนที่ผิวหนังที่รอยตัด หรือแผลถลอก มีตุ่มหนอง ซึ่งมักจะคัน รอบแผลจะมีอาการบวมมาก ต่อมามักพบแผลลึกที่มีศูนย์กลางเป็นสีดำ และระยะนี้มักจะไม่คัน ส่วนมากแผลมักพบที่บริเวณหน้า คอ แขน หรือมือ เพราะมักเป็นส่วนที่สัมผัสนอกร่มผ้าแอนแทรกซ์ในทางเดินอาหาร มักเกิดจากการกินอาหารสุกดิบ หรือน้ำนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในประเทศที่อาจไม่ได้มีการฉีดวัคซีนต้านแอนแทรกซ์ในปศุสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ได้มีการตรวจก่อนทำการชำแหละเนื้อมาขายหรือบริโภค ผู้ติดเชื้อมักมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอเวลากลืน เสียงแหบ คอบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต คลื่นไส้อาเจียน บางครั้งอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ หน้าแดง ตาแดง ปวดท้อง ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว บางครั้งอาจถ่ายเป็นเลือด ท้องบวม อาจมีหมดสติเป็นลมได้แอนแทรกซ์จากการฉีดยาเข้าเส้น พบได้น้อย แต่มีรายงานในยุโรป ในผู้ติดยาเสพติดแบบฉีดเข้าเส้น เช่น เฮโรอีน อาจมีไข้ หนาวสั่น ที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีดมักพบเป็นกลุ่มฝีหนองขนาดเล็กหรือผิวที่บวมขึ้นมา ต่อมา ค่อยมีแผลตรงกลางสีดำที่ไม่เจ็บ แต่บวมรอบแผล ถ้าฉีดลึกอาจมีฝีหนองขนาดใหญ่ใต้ชั้นผิวหนังได้ แม้อาการจะคล้ายกลุ่มแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง แต่อาจจะทำให้เกิดการกระจายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อเข้ากระแสเลือด การวินิจฉัยโรคแอนแทรกซ์แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่สงสัย ร่วมกับความเสี่ยง หากเกิดจากการหายใจ ควรตรวจเอกซเรย์ หรือการตรวจซีทีสแกน โดยอาจเห็นมีน้ำในปอด หรือช่องอกที่กว้างขึ้น (mediastinal widening)การวินิจฉัยยืนยันสามารถทำได้โดยการวัดแอนติบอดีหรือระดับพิษในเลือด หรือตรวจแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิสในสิ่งส่งตรวจ ซึ่งได้แก่ เลือด ผิวหนังที่มีรอยโรค น้ำไขสันหลัง เสมหะ หรือน้ำในปอด โดยหากเก็บสิ่งส่งตรวจก่อนให้ยาปฏิชีวนะ จะทำให้มีโอกาสสามารถพบเชื้อได้มากขึ้นการรักษาโรคแอนแทรกซ์การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนนิซิลลิน ด๊อกซีไซคลิน หรือกลุ่มควิโนโลน นอกจากนี้ ยังมียาที่ต้านพิษที่สร้างจากเชื้อและเป็นยาปฏิชีวนะด้วย คือ คลินดาไมซิน ลิเนโซลิดบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายขนาน หากมีอาการรุนแรง เช่น ถ้าติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง ต้องใช้ยาอย่างน้อย ๓ ตัว โมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) และอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ที่จำเพาะกับเชื้อก็มีการนำมาใช้ด้วยผู้ป่วยบางรายแม้ว่าจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แล้ว แต่พิษจากเชื้ออาจยังมีผลรุนแรงที่ต้องนอนในหอผู้ป่วยวิกฤติ หรือต้องใส่ท่อช่วยหายใจการป้องกันโรคแอนแทรกซ์หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่าง ๆ เช่น ของชำร่วยจากขนหรือหนังสัตว์ งดการกินน้ำหรือนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อหรืออาจมีการปนเปื้อน งดกินเนื้อสัตว์ที่อาจมีเชื้อโดยเฉพาะหากปรุงดิบหรือกึ่งสุกดิบผู้ที่สัมผัสเชื้อแล้ว แต่ยังไม่มีอาการ แนะนำให้กินยาป้องกันหลังสัมผัส (Post exposure prophylaxis; PEP) โดยต้องกินยาปฏิชีวนะด๊อกซีไซคลิน หรือกลุ่มควิโนโลน นานถึง ๖๐ วันมีวัคซีนไหมวัคซีนแอนแทรกซ์ เดิมมีให้ใช้ได้เฉพาะบางกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ในค่ายทหาร หรือในห้องปฏิบัติการ แต่ต่อมามีการขยายการใช้ในผู้ที่สัมผัสเชื้อที่สงสัยว่าเป็น หรือมีอาการแสดง และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแล้วหากสงสัยว่าท่าน หรือสัตว์เลี้ยงของท่าน มีความเสี่ยงหรือสัมผัสเชื้อแอนแทรกซ์ ควรไปพบแพทย์ รายงานให้บุคลากรทางสาธารณสุขทราบ@@@@@แหล่งข้อมูลอ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลอ่านคอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” ทั้งหมดได้ที่นี่