Sunday, 19 January 2025

กฎหมายมาตรฐานปางช้าง ฝ่าวิกฤติทารุณกรรมสัตว์

16 Mar 2024
132

ช้างไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ๔,๐๐๐ ชีวิต กำลังเผชิญปัญหาสวัสดิภาพถูกบังคับให้แสดงโชว์–ขี่ช้าง ขัดความเป็นธรรมชาติ จนถูกมองเป็นการทารุณ ส่งผลกระทบภาพลักษณ์ประเทศมาตลอดแม้ที่ผ่านมา “รัฐบาล” จะพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังปรากฏข่าว “การทำร้ายช้างไทยผ่านสื่อเป็นระยะ” ส่วนหนึ่งเพราะประเทศ ไทยมีธุรกิจปางช้างและกิจกรรมท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างอยู่จำนวนมาก ตามข้อมูล “สนง.มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)” ที่เคยระบุปางช้างทั่วประเทศมีอยู่ ๒๕๐ ปาง แบ่งเป็นปางช้างขนาดเล็กมีช้างไม่เกิน ๑๐ เชือก ๒๐๐ ปาง ขนาดกลางมีช้าง ๑๑-๓๐ เชือก ๔๐ ปาง ขนาดใหญ่มีช้าง ๓๐ เชือก ๑๐ ปาง มีทั้งปางช้าง แบบดั้งเดิม ปางช้างท่องเที่ยวนิเวศ ปางช้างพิการ ปางช้างผสมผสาน ทำให้บางส่วนขาดความเข้าใจ “การจัดการควบคุมดูแลช้างที่ถูกต้อง” จนเกิดปัญหาสุขภาพการทารุณกรรมตามมาเหตุนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดรับการประกอบกิจการปางช้าง นำมาสู่ “การร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรในการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับ…” โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม๒๕๖๕ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม๒๕๖๗ เป็นต้นไปเพื่อปรับปรุงการจัดการควบคุมดูแลการเลี้ยงช้างให้ถูกต้องเหมาะสม “เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพของสัตว์” ในการแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมช้าง และยกระดับมาตรฐานปางช้างไทยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์สพ.ญ.ภัคนุช บันสิทธิ์นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ “เกี่ยวกับกฎหมายสัตว์ในไทย” สำหรับเนื่องในวันช้างไทย ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ นี้ ในเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์สพ.ญ.ภัคนุช บันสิทธิ์ รอง ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า รพ.สัตว์ ม.เชียงใหม่ บอกว่า เหตุการณ์ช้างถูกทำร้ายยังเห็นผ่านสื่ออยู่เรื่อยๆ ด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างมักถูกมองเป็นการทารุณกรรมแต่เท่าที่ทำงาน “ด้านการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพช้าง” ต้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมรักษาช้างป่วยมา ๑๐ ปีนั้น ภาครัฐมิได้ปล่อยปละละเลยเพิกเฉยกับกระแสการทารุณกรรมช้างแต่อย่างใด และมีการรวบรวมข้อมูลนำมาถอดบทเรียนเข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำ “ควาญช้าง และปางช้าง” ในการจัดการเลี้ยงดูให้ถูกต้องอยู่ตลอดขณะที่ปางช้างก็ให้ความร่วมมือพัฒนาจัดการปางช้าง บุคลากร สุขภาพช้าง สวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในปางช้างหลายแห่ง แต่ก็อาจมีส่วนน้อยที่หลุดระบบปฏิบัติกับช้างที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในช่วง “โควิด–๑๙ กระทบต่อการท่องเที่ยวไทย” จนไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าในประเทศ ทำให้ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความลำบากจาก “เจ้าของปางขาดรายได้” ไม่สามารถเลี้ยงดูช้างจนผอมโซขาดอาหาร “ควาญช้าง” ต้องพยายามนำหญ้าที่พอหามาได้ให้ช้างประทังชีวิตในแต่วันส่วนใหญ่มัก “เป็นอาหารปลูกที่ไม่เหมาะสม มีสารเคมีเจือปน” ทำให้ช้างท้องเสียท้องอืดกระทบต่อสุขภาพ จนกระทั่ง บ.วิริยะประกันภัยจำกัด (มหาชน) เข้ามาริเริ่มโครงการปลูกพืชอาหารช้างคุณภาพเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยการทำแปลงสาธิตการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อให้เกษตรกรมาเรียนรู้วิธีการปลูกหญ้าที่มีคุณภาพทั้งอบรมวิธีปลูก การตัดระยะเวลาที่เหมาะสม “เพื่อให้หญ้ามีคุณค่าทางอาหารสูง” แล้วยังถ่ายทอดความรู้ต้นทุนแก่เกษตรกรรายใหม่ “มีรายได้ในการปลูกหญ้า” เพราะช้างต้องกิน ๒๐๐-๓๐๐ กก./เชือก/วัน ดังนั้นปางช้างต้องพึ่งพาเกษตรกรผลิตอาหาร “ถ้าชุมชนใกล้เคียงปลูกได้” นอกจากช้างมีอาหารพอยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้ด้วย  ถัดมาเมื่อ “โควิด–๑๙ คลี่คลาย” การท่องเที่ยวยังฟื้นไม่เต็ม ๑๐๐% ปางช้างก็ยังไม่มีรายได้ที่จะเลี้ยงช้างจนสวัสดิภาพแย่ลง แม้แต่ “ช้างป่วยก็ไม่มีเงินรักษา” ทำให้ รพ.สัตว์ มช.จึงต่อยอดคลินิกสัตวแพทย์เคลื่อนที่ภายใต้โครงการบริการสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ช่วยเหลือช้างป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะปางช้างขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ไม่มีสัตวแพทย์ประจำเพื่อเปิดช่องทางสำหรับ “การช่วยเหลือช้างป่วย” ที่มักออกตรวจตามการแจ้งจากปางช้าง ถ้าหากประเมินอาการพบว่า “ช้างป่วยหนัก” ก็จะประสานสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง รับตัวไปรักษาต่อไปกระทั่งในปี ๒๕๖๕ “การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีขึ้น” ธุรกิจกิจกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างเริ่มกลับมาคึกคัก “ควาญช้างเคลื่อนย้ายช้างกลับมาทำงานที่ปางช้างอีกครั้ง” เพื่อรองรับการเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ และก็มาพร้อมกระแสกับคำว่า “แวลแฟร์ (welfare)” สวัสดิการความเป็นอยู่ช้างเรื่องนี้ปางช้างตื่นตัวกับสภาพความเป็นอยู่ของช้างมาก แม้แต่ “รัฐบาล” พยายามเข้ามายกระดับการปฏิบัติในปางช้างด้วยการส่งเสริมการดูแลช้างตามหลักวิชาการ “ลดการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยที่ออกกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับที่จะมีผลในเดือน สิงหาคมนี้จากนั้น ปางช้างทั่วประเทศต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดจาก “มกอช.และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เป็นหน่วยดูแลเรื่องนี้ครอบคลุมปางช้าง และองค์ประกอบปางช้าง การจัดการ บุคลากร สุขภาพช้าง สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การบันทึกข้อมูล เพื่อให้ช้างมีสุขภาพดี คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์เป็นหลักอย่างเช่นการจัดการด้านอาหารและน้ำเพียงพอ ทำความสะอาดที่พักให้ถูกต้อง “ลักษณะจัดการสุขภาพช้างให้เป็นรูปธรรมชัดเจน” เพื่อตอบรับกระแสสวัสดิภาพสัตว์เป็นมาตรฐานที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ประเด็นนี้นำมาสู่ “คุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง”  ภายใต้โครงการส่งเสริมสมรรถนะควาญช้างและผู้ดูแลช้างอันเป็นหลักสูตรมาจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า รพ.สัตว์ มช. ร่วมกันร่างขึ้นให้ควาญช้างทั่วประเทศเข้ารับการทดสอบความรู้ทักษะการดูแลเลี้ยงช้าง และประเมินในแต่ระดับเสมือนเป็นใบอนุญาตประกอบอาชีพในการยกระดับวิชาชีพควาญมีความก้าวหน้าให้เกิดความภูมิใจ “สามารถดูแลช้างอย่างมีประสิทธิภาพเป็นระบบ” สอดรับกฎกระทรวงมาตรฐานปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างซึ่งจะมี ๕ ระดับ คือ ระดับ ๑ พื้นฐานเลี้ยงช้าง ระดับ ๒ รู้ทักษะการดูแลเลี้ยงช้าง จัดเตรียมอาหาร และน้ำให้ช้างเพียงพอ ระดับ ๓ มีทักษะควบคุมช้างทำตามคำสั่ง และมีความรู้อุปนิสัยอารมณ์พฤติกรรมช้างแต่ละช่วงวัย ระดับ ๔ มีทักษะการฝึกควบคุมช้างบนพื้นขณะเดินด้วยกัน หรือแสดงท่าทางสื่อสารกับช้างในระยะสายตาได้ระดับ ๕ มีทักษะภูมิปัญญาควาญช้างในท้องถิ่น อธิบายลักษณะการเลี้ยงช้าง และดูช้างมงคล และอัปมงคลในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ และสามารถใช้สมุนไพรดูแลรักษาช้างเบื้องต้นได้ข้อดีคุณวุฒิวิชาชีพนี้ “ปางช้าง” มีเครื่องการันตีว่า ควาญช้างผ่านการทดสอบมาตรฐานแล้ว “ควาญช้าง” ก็ยกระดับต่อรองเงินตอบแทนการสมัครงานได้ “เกิดความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพ” ด้วยการสอบคุณวุฒิวิชาชีพนี้ ดังนั้น คุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง “จะช่วยพัฒนาบุคลากร และการรับรองสมรรถนะควาญช้างให้ได้ตามมาตรฐานอาชีพ” สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลี้ยงช้าง และเกิดความเชื่อมั่นว่า ควาญช้างสามารถดูแลช้างโดยปราศจากการทารุณกรรม เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตานักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างไทยเรื่องสำคัญคือ “สร้างอาชีพให้ควาญช้างรุ่นใหม่” ในการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาควาญช้างนำไปสู่การอนุรักษ์วัฒนธรรม การเลี้ยงช้างไทย และเชิดชูยกอาชีพควาญช้างให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แล้วที่ผ่านมามีผู้สอบผ่านระดับ ๒ ทั้งทฤษฎี-ปฏิบัติ ๓๒ คน ที่จะมีพิธีมอบใบประกาศคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง วันที่ ๑๓ มกราคม๒๕๖๗สุดท้ายฝากไว้ว่า “คนไทยต้องช่วยกันอนุรักษ์ช้างไทย” ทำได้หลายรูปแบบทั้งการท่องเที่ยวอุดหนุนกิจการปางช้างที่ผ่านมาตรฐานในการปฏิบัติที่ดีสำหรับ ปางช้าง ทั้งให้ความชื่นชมควาญช้างผ่านการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพ และต้องตรวจสอบกระแสข่าวเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ก่อนแชร์ข้อมูลผ่านสื่อก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากนี่คือจุดเริ่มต้นพลิกโฉม “กฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ฉบับแรก” สู่การ พัฒนาระบบ ยกระดับปางช้าง และควาญช้างมีมาตรฐาน “ลดปัญหาทารุณกรรมสัตว์” ในการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม