“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พา สส.ก้าวไกล ลุยหน้างานจริงดูปัญหาไฟป่า จ.เชียงใหม่ ชี้เป็นปัญหาที่จัดการได้เพราะเกิดขึ้นซ้ำซาก แนะสร้างสถานีน้ำล่วงหน้า ตัดปัญหาขนกำลังคนเข้าดับไฟ ถามรัฐบาลเมื่อไรจะประกาศภัยพิบัติ หลังเชียงใหม่ทุบสถิติโลก ๒ วันติดวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๗ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนลงพื้นที่รับฟังปัญหาสถานการณ์ไฟป่าที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า วันนี้ตนจะไปพบปะกับอาสาของมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งได้เชิญทางพรรคก้าวไกลมาล่วงหน้าแล้ว ที่ถือเป็นปีที่ ๕ ของมูลนิธิกระจกเงาในการลงพื้นที่มาแก้ไขปัญหาไฟป่า จึงอยากให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ทำกิจกรรม “ก้าวไกลดับไฟป่า” รวมถึงนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้มาลงพื้นที่ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยตนเองแล้ว และทางประธานคณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ส่งตัวแทนมาลงพื้นที่ด้วย โดยเช้าวันนี้ค่าฝุ่น US AQI ที่สนามบินเชียงใหม่อยู่ที่ ๒๑๕ ถือเป็นอันดับหนึ่งของโลกเป็นวันที่สองติดต่อกันแล้ว รองลงมาเป็นกรุงนิวเดลี และกรุงปักกิ่ง และหากดูจากดาวเทียมของ Gitda ก็จะเห็นจุดความร้อนมากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง จากเดิมประมาณ ๓๐๐ จุด แต่ในปีนี้มีกว่า ๒,๐๐๐ จุด มากขึ้นถึง ๘ เท่า ถือเป็นการลงพื้นที่เพื่อให้เข้าใจหน้างานในช่วงนี้ ประกอบกับมูลนิธิกระจกเงาก็อยู่ในพื้นที่ เพื่อมาดูพฤติกรรมไฟ การทำอย่างไรให้ทีมงานเข้าถึงไฟก่อนที่จะลุกลาม ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ในการเข้าดับไฟไม่ได้ง่าย ส่วนการจัดการของภาครัฐในการจัดการแก้ปัญหาไฟป่านั้น นายพิธา กล่าวว่า ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะไฟป่าจะเกิดตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงช่วงฤดูฝน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเป็นช่วงฝุ่น จะมีสถานการณ์ไฟไหม้มาตลอด ดังนั้นควรเริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนในการจัดทำสถานีน้ำ โดยไม่ต้องใช้กำลังคนแบกน้ำขึ้นไปก็จะสามารถถ่ายน้ำได้เลย เมื่อย้อนหลังไป ๕ ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการไหม้ซ้ำซากก็สามารถเตรียมการได้ทันจากกระบวนการข้างต้น แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ไฟไหม้ต่อเนื่องแล้วไม่มีการเตรียมตัว ก็จำเป็นต้องระดมคนขึ้นไปดับไฟ หลังจากนั้นนายพิธา ถามผู้สื่อข่าวกลับว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้วหรือไม่ เพราะช่วงนี้ของปีที่แล้วก็ไม่ยอมประกาศ เพราะกังวลเรื่องการท่องเที่ยว แต่พอมาปีนี้สถานการณ์แย่แล้วยังไม่ประกาศ ทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณกลางได้ ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศ ให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้แล้ว จึงอยากทราบว่าตอนนี้ทำได้จริงหรือไม่ ดังนั้นหากยังเกิดสถานการณ์ไฟไหม้ ก็ยังคงต้องใช้วิธีระดมพลเข้าไปเพื่อดับไฟให้เร็วที่สุด รวมถึงกำลังคน เครื่องมือในการแยกเชื้อเพลิง เชื่อว่าจะสามารถทุเลาได้แต่ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาได้ทันหรือไม่ เพราะต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก