Sunday, 19 January 2025

อิสราเอลคำนวณมาแล้ว? โจมตีกงสุลอิหร่าน หาทางออกจากสงครามกาซา

07 Apr 2024
113

อิสราเอลโดนกล่าวหา โจมตีสถานกงสุลอิหร่านในเมืองหลวงซีเรีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑๓ ศพ รวมนายพลคนสำคัญของกองทัพอิหร่านหลังเกิดเหตุ อิหร่านประกาศกร้าวว่าจะมีการตอบโต้ แต่พวกเขาต้องคิดหนักว่าจะตอบโต้อย่างไร โดยไม่ทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามครั้งใหม่ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การโจมตีสถานกงสุลอาจเป็นแผนที่อิสราเอลคำนวณมาอย่างดี เพื่อใช้เป็นทางออกจากสงครามในฉนวนกาซา ที่กำลังเจอทางตัน และเพื่อดึงสหรัฐฯ มาร่วมสู้กับอิหร่านแม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ การโจมตีอาคารทางการทูตยังไม่เคยเกิดขึ้น และตามอนุสัญญากรุงเวียนนาปี ๒๕๐๔ ที่ออกตามมาในภายหลัง กำหนดว่า สถานทูตและกงสุล ควรได้รับความคุ้มครองแม้จะอยู่ในช่วงสงคราม แต่เมื่อวันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๖๗ อาคารสถานกงสุลอิหร่าน ในกรุงดามัสกัส ของซีเรีย ถูกโจมตีทางอากาศจนพังราบการโจมตีที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑๓ ศพ รวมนายพล โมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี ผู้บัญชาการอาวุโสของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ‘คุดส์’ (Quds Force) ซึ่งคอยปฏิบัติภารกิจของกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านในซีเรีย นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่อิหร่านอีกหลายศพ และพลเมืองซีเรียอีก ๔ ศพด้วยไม่ต้องสงสัยเลยว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ อิหร่านออกมากล่าวโทษอิสราเอลในทันที ขณะที่รัฐบาลยิวไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ แม้ว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น อิสราเอลก็เพิ่งโจมตีคลังอาวุธทางเหนือของซีเรีย จนมีทหารซีเรียและนักรบกลุ่มติดอาวุธ ฮีซบอลเลาะห์ ของเลบานอน เสียชีวิตถึง ๓๘ ศพอิหร่านประกาศกร้าวว่าพวกเขาจะตอบโต้การโจมตีของอิสราเอล แต่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นเรื่องยากมากที่อิหร่านจะโจมตีกลับอย่างรุนแรง เนื่องจากติดข้อจำกัดหลายอย่าง และคาดว่า การโจมตีครั้งนี้อาจเป็นแผนที่อิสราเอลคำนวณมาแล้ว เพื่อหาทางออกจากสงครามในกาซาที่กำลังเจอทางตัน และดึงสหรัฐฯ มาเข้าร่วมในสงครามกับอิหร่านแทน อิหร่านคิดหนัก ตอบโต้อย่างไรนายพอล พิลลาร์ จากศูนย์ศึกษาความมั่นคงแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เชื่อว่า ผู้นำอิหร่านจะถูกกดดันอย่างหนักให้ตอบโต้อิสราเอลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากกระแสสังคม ซึ่งนายอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านก็ออกมาให้คำมั่นว่าจะล้างแค้นและอิสราเอลต้องถูกลงโทษอย่างไรก็ตาม อิหร่านต้องคิดหนักว่าจะตอบโต้อย่างไรไม่ให้สถานการณ์บานปลาย เพราะสงครามครั้งใหม่ไม่เป็นประโยชน์กับพวกเขา และผู้นำอิหร่านก็ไม่ได้ต้องการให้เกิดสงคราม หากยังจำได้ตอน พลโท คาสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการคนสำคัญของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ถูกสหรัฐฯ สังหารเมื่อ ๔ ปีก่อน อิหร่านโจมตีค่ายทหารอเมริกันหลายแห่ง แต่แจ้งเตือนสหรัฐฯ ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดสงครามศักยภาพทางทหารของพวกอิหร่านที่ยังตามหลังอิสราเอลและสหรัฐฯ กับปัญหาเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึก ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้อิหร่านต้องอดกลั้นมาตลอด ๖ เดือน เพื่อไม่ให้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางจากโศกนาฏกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในฉนวนกาซา ลุกลามบานปลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ อิหร่านจะตอบโต้อิสราเอลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อพวกเขาหาวิธีที่เหมาะสมได้แล้ว โดยล่าสุด ทางการสหรัฐฯ ยกระดับการเฝ้าระวังและการเตรียมความพร้อมทางทหารให้มากขึ้น เพื่อรอรับมือการโจมตีอย่างมีนัยสำคัญของอิหร่าน ที่พวกเขาเชื่อว่าอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า อิสราเอลคำนวณไว้แล้วอย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า การโจมตีอาคารทางการทูตนั้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นแม้ในยุคสงครามโลก จึงมีการคาดเดาไปต่างๆ นานา ว่าหากอิสราเอลทำจริง พวกเขาทำไปเพื่ออะไร? อิสราเอลอาจมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการโจมตีในซีเรีย และพอสบโอกาสจึงโจมตีทันที หรือทำไปด้วยความโกรธอย่างไม่อาจควบคุมได้ เหมือนตอนเริ่มการล้างแค้นกลุ่มฮามาสแต่นายพิลลาร์เชื่อว่า การโจมตีสถานกงสุลอิหร่าน ในกรุงดามัสกัสนั้น สะท้อนให้เห็นการตัดสินใจที่ผ่านการคำนวณมาอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู และไม่ได้ทำเพื่อสร้างความเสียหายต่ออิหร่านเพียงอยากเดียวเป้าหมายของการโจมตีดังกล่าว ตามความคิดของนายพิลลาร์ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามหาทางออกจากสถานการณ์ที่ “การทำลายกลุ่มฮามาส” ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของอิสราเอลในการโจมตีฉนวนกาซา ไม่อาจบรรลุได้แล้ว เนื่องจากความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในกาซาทำให้พวกเขาถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่มหามิตรอย่างสหรัฐฯ ก็ไม่สนับสนุนอย่างไร้เงื่อนไขตามเดิมแผนการของอิสราเอลในการออกจากทางตันในฉนวนกาซา มีด้วยกัน ๒ เป้าหมาย อย่างแรกและสำคัญที่สุด คือยั่วยุให้อิหร่านโจมตีกลับ ซึ่งจะทำให้อิสราเอลสามารถแสดงตัวเป็นผู้เสียหายที่ต้องป้องกันการโจมตี ไม่ใช่ผู้โจมตี และเบี่ยงเบนความสนใจจากความเสียหายในกาซา ไปยังความจำเป็นในการป้องกันตัวเองจากการโจมตีของศัตรูต่างชาติเป้าหมายที่ ๒ คือ เพิ่มโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงในความขัดแย้งกับอิหร่าน ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้น สงครามในตะวันออกกลางจะไม่ใช่แค่เรื่องอิสราเอลถล่มปาเลสไตน์แล้ว แต่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วมของสหรัฐฯ สหรัฐฯ อาจถูกดึงเข้าสู่สงครามสหรัฐฯ อาจถูกลากเข้าร่วมความขัดแย้งได้ใน ๒ กรณีคือ การตอบโต้อิสราเอลของอิหร่าน ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องทางการเมืองภายในสหรัฐฯ เอง ให้รัฐบาลปกป้องพันธมิตรอย่างอิสราเอลมากกว่าขึ้น อีกกรณีคือ การโจมตีของอิสราเอลขยายไปจนถึงทรัพย์สินของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกลายเป็นข้ออ้างให้สหรัฐฯ โจมตีได้แต่การทำสงครามกับอิหร่านจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จากหลายๆ เหตุผล ทั้งการสูญเสียกำลังคนและทรัพยากร, การชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ, ท่าทีจากต่างชาติ และทำให้สหรัฐฯ ต้องเบนความสนใจไปจากนโยบายต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆการหลบเลี่ยงสงคราม ไม่เพียงต้องอาศัยทักษะในการรับมือวิกฤติอย่างมีชั้นเชิง แต่สหรัฐฯ ยังต้องเว้นระยะห่างจากอิสราเอลที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญสถานการณ์ยากลำบากและอันตรายแบบนี้ โดยไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง ๒ ประเทศเกิดความเสียหายจนกลายเป็นปัญหาในอนาคตด้วยผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรีที่มา : responsiblestatecraft , cnn , bbc