Sunday, 19 January 2025

เหลือบผ้าเหลือง เส้นทางเงิน “วัด-พระ” ทำบุญแล้วไปไหน เป้าหมายขบวนการฟอกเงิน

07 Apr 2024
116

เงินทำบุญมอบให้วัดแล้วไปไหน ปัจจัยใดเป็นของ “พระ” หรือ “วัด” เป็นประเด็นนำสู่การคอร์รัปชันสะเทือนวงการสงฆ์ ด้วยเจ้าอาวาสบางรูป มีเงินในบัญชีส่วนตัวหลักล้านบาท ขณะระบบตรวจสอบ จำแนกปัจจัย ไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะกฎหมายสงฆ์ มีความขัดแย้งกับหลักพระวินัย ในเชิงปฏิบัติ ด้านสำนักพุทธฯ ยอมรับว่าที่ผ่านมามีพระนอกรีต และขบวนการฟอกเงิน แต่เป็นส่วนน้อย“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นพ.มโน เลาหวณิช” อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การคอร์รัปชันในวงการสงฆ์ยังมีอยู่ต่อเนื่อง เพราะ “พระราชบัญญัติสงฆ์” ให้อำนาจเจ้าอาวาสเป็นผู้จัดการทุกอย่างแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจในวัด ทั้งที่ตามพระวินัยมีข้อกำหนดให้พระภิกษุทุกรูปร่วมกันตัดสินใจว่าจะบริหารการเงินภายในวัดอย่างไร แต่ปัจจุบันการบริหารกลับอยู่ในมือเจ้าอาวาสเพียงผู้เดียว ที่สำคัญ เจ้าอาวาส มักแต่งตั้งไวยาวัจกร ซึ่งเป็นคนที่สามารถสั่งได้ บางรายแต่งตั้งเครือญาติเจ้าอาวาสเข้ามาเป็น เพราะไวยาวัจกร มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินเงินทองของวัดให้ถูกต้อง ทำให้ไม่เกิดการถ่วงดุลอำนาจเงินทำบุญได้มาง่าย ทำให้พระบางรูป มีเงินส่วนตัวเป็นร้อยล้านพันล้าน โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ยิ่งวัดที่มีขนาดใหญ่ลูกศิษย์เยอะ มีเงินจากการทำบุญ และทำวัตถุมงคลแต่ละวันมากบางครั้ง วัดกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน เพราะเงินที่ทำบุญกับวัดสามารถนำไปยกเว้นภาษี บางวัดมีเศรษฐีมาทำบุญ ๑๐ ล้าน แต่ให้เจ้าอาวาสออกใบอนุโมทนาบัตร ๒๐ ล้าน เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นขบวนการยักยอกเงินวัด หลายกรณีเงินในบัญชีของวัดกับเจ้าอาวาสจะโอนสลับกันไปมา แยกไม่ออกว่าอันไหนเงินทำบุญกับวัด เพราะคณะสงฆ์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น แต่มีตัวอย่างวัดที่มีการบริหารเงินวัดอย่างโปร่งใส เช่น วัดหนองป่าพง ของหลวงปู่ชา ท่านให้คณะสงฆ์บริหารจัดการทั้งหมด “การแก้ปัญหา ต้องเริ่มที่ตัวกฎหมาย พระราชบัญญัติสงฆ์ ขัดกับพระธรรมวินัย ที่ให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมดูแล มากกว่าให้อำนาจเจ้าอาวาสทั้งหมด ดังนั้น ถ้าต้องการแก้ปัญหาจริงจัง สภาผู้แทนราษฎร ต้องนำคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมวินัยไปร่าง พระราชบัญญัติสงฆ์ ฉบับใหม่ แล้วให้คณะสงฆ์เป็นผู้บริหาร โดยให้พระเถระบวชมาเกิน ๒๐ พรรษา ประชุมร่วมกันภายในวัด ส่วนตำแหน่ง ไวยาวัจกร ต้องไม่ใช่คนที่เจ้าอาวาสแต่งตั้ง ต้องให้คณะสงฆ์แต่งตั้ง และมีถิ่นฐานชัดเจน มีฐานะดี เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในพื้นที่”วัดในกรุงเทพฯ บางแห่ง แม้เป็นวัดขนาดเล็ก แต่มีเงินฝากเป็นร้อยล้านบาท ที่สำคัญพระไม่ต้องเสียภาษี เลยทำให้ปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยมีผลต่อคณะสงฆ์ไทย ซึ่งในวงการคณะสงฆ์มีการคอร์รัปชันในหลายรูปแบบ แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ เพราะเชื่อว่าเป็นที่เคารพของชาวพุทธทั่วประเทศ “ส่วนตัวเชื่อว่า นักการเมืองไม่กล้าปฏิรูปวงการสงฆ์ เพราะพระถือเป็นคะแนนเสียงชั้นดี ประกอบกับชาวบ้านเชื่อพระ มากกว่านักการเมือง ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นหลายแห่ง ใช้พระเป็นฐานเสียงสำคัญ ขณะที่เงินทำบุญ ที่พระภิกษุแต่ละรูปได้รับ ถือเป็นเงินส่วนตัว”เส้นทางเงินทำบุญ โดยทั่วไปประชาชนที่ทำบุญไม่ค่อยทราบว่าเงินนั้นเข้าไปในบัญชีเงินวัดหรือเงินพระ เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่มาบังคับให้แสดงหรือตรวจสอบชัดเจนการทำบุญกับวัด ประชาชนต้องดูว่าวัดไหนให้ประโยชน์แก่สังคม อย่าไปดูว่าเป็นวัดใหญ่ หรือมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เพราะถ้าพระมีเงินมากเกินไปสีกาก็เข้ามา ทำให้บรรดาเกจิดัง มักมีปัญหาในเรื่อง “สตรี” กับ “สตางค์” เข้ามาตลอด และยังไม่สามารถแก้ไขได้มาจนถึงตอนนี้ สำนักพุทธศาสนา ชี้แจง “เงินวัด เงินส่วนตัวพระ” ต่างกันอย่างไรด้านการกำกับดูแลคณะสงฆ์ “สุพัฒน์ เมืองมัจฉา” ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในฐานะโฆษก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เล่าถึงเส้นทางเงินทำบุญของวัดกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า เงินทำบุญสามารถแบ่งได้เป็นปัจจัยส่วนตัว เช่น ปัจจัยที่ได้รับจากการไปกิจนิมนต์ ญาติโยมถวายเป็นของส่วนตัว รวมถึงเงินนิตยภัต มอบให้เป็นรายเดือนตามสมณศักดิ์ของพระส่วนเงินของวัด ที่ถวายให้กับวัดเป็นส่วนรวม เช่น ปัจจัยที่ถวายไม่ได้เจาะจง อย่างสังฆทานที่มอบเงินให้เป็นกองกลางของวัด เวลาโอนต้องเข้าบัญชีวัด“สำหรับปัจจัยส่วนตัว พระท่านสามารถนำไปใช้ได้ตามเหมาะสม ซึ่งหลวงพ่อบางรูปก็นำเงินส่วนตัวไปสร้างสาธารณประโยชน์” ปกติสำนักพุทธศาสนา มีข้อกำหนดให้ทุกวัดจัดทำบัญชีประจำปีของวัด คือรายงานรายรับรายจ่ายภายในวัด โดยเงินส่วนนี้เป็นปัจจัยที่ญาติโยมทำบุญกับวัด และเข้าบัญชีกองกลางของวัด แต่ทางหน่วยงานไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติ หรือเอาผิดกับวัดได้ ส่วนเงินที่ญาติโยมบริจาคให้กับพระเป็นการส่วนตัว จะไม่มีรายงาน ไม่สามารถตรวจสอบได้สำหรับรายงานในภาพรวมที่ทางวัดส่งบัญชีมาให้ดู รายได้ของวัดจะขึ้นอยู่กับว่าวัดแห่งนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือมีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ จะมีรายได้ที่มากกว่าวัดทั่วไป โดยเฉพาะวัดในชนบทหลายแห่ง แทบไม่มีรายรับเข้ามาในแต่ละเดือน กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกต ถึงการให้อำนาจเจ้าอาวาสแต่งตั้งไวยาวัจกร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มองว่า การแต่งตั้งมีกฎหมายเถระสมาคมกำหนดไว้ ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน ดังนั้น คนที่เข้ามาเป็นไวยาวัจกร ไม่ได้เข้ามาง่ายๆ แต่มีกระบวนการขั้นตอนคัดเลือก จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าห่วง แต่ถ้ามีปัญหาก็มีในส่วนน้อย“ส่วนประเด็นที่มีการนำเงินสีเทามาบริจาคให้กับวัดเพื่อฟอกเงิน น่าจะมีในส่วนน้อย เพราะการบริจาคให้กับวัดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ไม่น่าจะได้คืนแบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสำนักพุทธฯ ยังเชื่อว่า วัดไม่ใช่แหล่งฟอกเงิน แต่บุคคลนั้นอาจมีการนำเงินมาบริจาคให้กับวัดจริง และมีใบอนุโมทนาบัตรจริง ไม่อยากให้มองว่าวัดเป็นแหล่งธุรกิจ แต่เป็นศูนย์รวมของทุกคน ดังนั้น พุทธศาสนิกชนนอกจากจะต้องช่วยกันดูแลวัดแล้ว ยังสามารถช่วยกันตรวจสอบได้ด้วย”