Sunday, 19 January 2025

สุราเพิ่มรายได้แต่กระทบต้นทุนสังคม ส่งผลสุขภาพ-เด็กเข้าถึงง่าย-เมาแล้วขับพุ่ง

เมื่อวันที่ ๙ เม.ย. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ” พร้อมนำเสนอผลการศึกษาเรื่องการทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ด็อกเตอร์นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอกล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจเกือบ ๖ แสนล้านบาท ภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ ๑.๕ แสนล้านบาท แต่ก็สร้างต้นทุนทางสังคมไม่ต่ำกว่า ๑.๗ แสนล้านบาท รัฐบาลออกกฎหมายควบคุม โดยใช้มาตรการด้านราคา และไม่ใช่ราคา แต่ยังแก้ไม่ตรงจุดเนื่องจากสัดส่วนการดื่มของกลุ่มเด็กเยาวชน ๑๕-๑๙ ปี เข้าถึงสุราไม่ได้ลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับยังมีแนวโน้มสูง จึงควรปรับปรุงกฎหมายและกำกับควบคุม ให้มีประสิทธิผล จึงมีข้อเสนอ ๓ ข้อ ได้แก่ ๑.มุ่งเน้นปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๒.ลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด และ ๓.มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคมน.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส ด้านนโยบายการกำกับดูแลที่ดี ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อต้นทุนแก่สังคมไทย ๑.๗ แสนล้านบาท พบว่า เป็นผลกระทบด้านสุขภาพมากที่สุด ๕๕% คิดเป็น ๙.๔ หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ อุบัติเหตุทางถนน ๓๑% กว่า ๕.๓ หมื่นล้านบาท ปัญหาการบาดเจ็บต่างๆ ๑๐% คิดเป็น ๑.๗ หมื่นล้านบาท และอาชญากรรม ๔% คิดเป็น ๗ พันล้านบาท ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าและผู้บริโภคในกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต พบว่า มีร้านค้าถึง ๓๐% ที่ขายเหล้า-เบียร์ ให้เด็กอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ขายใกล้สถานศึกษากว่า ๒๓% เด็กอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านของชำมากที่สุด ๓๖% ร้านสะดวกซื้อ ๓๕% ร้านอาหาร ๒๖% และออนไลน์ ๓% สำหรับข้อเสนอการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ๑.แก้ไขมาตรา ๓๒ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยให้โฆษณาได้ แต่ต้องไม่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนต่ำกว่า ๒๐ ปี ๒.เพิ่มบทลงโทษกรณีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี และ ๓.เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่