๗ วันอันตราย ช่วงสงกรานต์ ๒๕๖๗ เริ่ม ๑๑-๑๗ เมษายน เครือข่ายลดอุบัติเหตุ รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย ห่วงใช้กัญชา ร่วมกับการดื่มเหล้า กระตุ้นให้ขาดสติมากขึ้นนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๖๗ ว่า จะมีความแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาของเทศกาลสงกรานต์ ที่ปีนี้รัฐบาลกำหนดให้สามารถจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองได้ถึง ๒๑ วัน แต่ช่วงควบคุมเข้มข้น ๗ วันระหว่างวันที่ ๑๑-๑๗ เมษายน ๒๕๖๗ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นปีที่องค์การยูเนสโก ประกาศรับรองให้ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นมรดกโลก ทำให้หลายพื้นที่จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีรถบนถนนและการเดินทางมากกว่าปกติ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้กำหนดการรณรงค์ภายใต้ชื่อ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งทาง สคอ.และ สสส.ได้ร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์เน้นย้ำเรื่อง “ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง ดื่มไม่ขับ” เพื่อสร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัยและสื่อสารถึงแอลกอฮอล์ที่ดูดซึมเข้าร่างกายแม้เพียงไม่นาน จะส่งผลต่อการควบคุมของสมอง การตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เกิดการคึกคะนอง ใจร้อน ขาดสติ จนนำไปสู่อุบัติเหตุทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้รายงานสถิติอุบัติทางถนนสะสม ๗ วัน (วันที่ ๑๑-๑๗ เมษายน ๒๕๖๖) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๒๐๓ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ๒,๒๐๘ คน ผู้เสียชีวิต ๒๖๔ ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดคือจังหวัดเชียงราย ๖๘ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ๒๒ ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สาเหตุจากขับรถเร็ว ร้อยละ ๓๘.๒๒ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ ๒๓.๙๗ ตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ ๑๗.๕๗ ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๐.๔๖ รถกระบะ ร้อยละ ๗.๔๓ นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงของการขับขี่โดยทั่วไปในช่วงเทศกาล มักมาจากขาดการพักผ่อนที่เพียงพอก่อนเดินทาง ขาดการวางแผนการเดินทาง ดื่มแล้วขับ ง่วง วูบหลับใน เสียหลักลงข้างทาง พาตัวเองเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง การไม่ชำนาญเส้นทาง เร่งรีบ ขับเร็ว ชนปะทะกับคนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ต้องเพิ่มควมระมัดระวัง คือ หากเส้นทางมีการเล่นน้ำ รถที่ขับไปอาจมองไม่เห็นทาง ถนนลื่น เสี่ยงนั่งท้ายกระบะ ไม่สวมหมวกนิรภัย พื้นที่เล่นน้ำมีรถหนาแน่น สาดน้ำแรง รถล้ม ถนนลื่น มีแอ่งน้ำ ดื่มน้ำเมาในเขตห้ามดื่ม (Safety Zone) เหตุทะเลาะวิวาท การลวนลาม ซึ่งช่วงเทศกาลมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก มีรถ มีคนบนถนนมากกว่าปกติ เสี่ยงสูง รวมทั้งนโยบายขายน้ำเมา เปิดผับถึงตี ๔ บนถนนมีคนเมา รถเสี่ยง คนเสี่ยง มากกว่าปกติ ซึ่งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนรับมือให้ดี กำกับดูแลอย่างเข้มข้น ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดความสูญเสียนายพรหมมินทร์ ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัวคาดการณ์ว่าในปีนี้อาจจะมีตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงสงกรานต์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนอกจากปัจจัยในเรื่องของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผับเปิดถึงตี ๔ แต่ละพื้นที่มีการจัดงานอย่างต่อเนื่องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือ การใช้กัญชา และดื่มน้ำท่อม ซึ่งหากมีการใช้กัญชา หรือดื่มน้ำท่อม ควบคู่ไปกับการดื่มแอลกอฮอล์แล้ว อาจส่งผลต่อร่างกายมากขึ้น และหากมีการขับขี่รถ ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นด้วย ดังนั้นก็อยากฝากไว้ว่า อย่าได้ประมาทเป็นอันขาด และขอให้ฉลองสงกรานต์ด้วยความระมัดระวัง.(ติดตาม ข่าวทั่วไทย ได้ทั้งหมดที่นี่)
๗ วันอันตราย สงกรานต์ ๒๕๖๗ รณรงค์ "ดื่มไม่ขับ" ชี้ปัจจัยเสี่ยงช่วงเทศกาล
Related posts