Sunday, 17 November 2024

กสก.ยกระดับลดการเผา พัฒนาระบบแจ้งเตือนเกษตรกร

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) เผยถึงการยกระดับลดการเผาในพื้นที่เกษตร ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการนำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร มาวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรและพื้นที่เก็บเกี่ยวรายเดือน แยกเป็นรายอำเภอและรายตำบล มาเชื่อมโยงกับข้อมูลจุดความร้อนสะสมในพื้นที่การเกษตรย้อนหลัง ๑-๓ ปี โดยเน้นหนักใน ๓ พืชที่มีปัญหาการเผา ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย “ทั้งนี้ เพื่อกําหนดพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดการเผา เช่น พื้นที่ที่มีสถิติเผาซ้ำซาก พื้นที่ต้องเร่งรอบการทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการเศษวัสดุได้ยาก หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกลและแรงงาน ทำให้มีความจำเป็นต้องเผาเศษวัสดุเหลือใช้ และพัฒนาระบบแผนที่ให้สามารถแสดงพิกัดสถานที่ที่มีความสามารถในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น พิกัดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โรงไฟฟ้าชีวมวล จุดรับอัดฟาง ให้บริการเช่าเครื่องจักรอัดฟาง รวมถึงการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM ๒.๕ ไปพร้อมกันได้ด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ทางกรมยังได้เพิ่มประสิทธิภาพในช่องทางการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบออนไลน์ ทั้ง ๒ ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน Farmbook และทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ (e-Form) ที่ https:// efarmer.doae.go.th/ โดยเพิ่มฟังก์ชันระบบแจ้งเตือนเกษตรกรเป็นรายบุคคล ที่แจ้งปลูกไว้ในระบบทะเบียนเกษตรกรและอยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว เพื่อเป็นข้อมูลการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การไถกลบ การทำปุ๋ยหมัก และแสดงพิกัดสถานที่ที่สามารถจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่อยู่ใกล้กับแปลงปลูก โดยอ้างอิงจากเทคโนโลยีดาวเทียม เช่น เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เมื่อแจ้งปลูกในทะเบียนเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว เมื่อใกล้ถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อเกษตรกรเข้าแอปพลิเคชัน Farmbook หรือทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ (e-Form) ระบบกล่องแจ้งเตือน จะมีการแจ้งเตือนในส่วนของการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เช่น องค์ความรู้การจัดการฟาง ตำแหน่งจุดรับอัดฟาง เช่าเครื่องจักรอัดฟาง จุดรับซื้อฟางอัดก้อน โรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ใกล้เคียง เป็นต้น “ในอนาคตเราจะพัฒนาระบบแผนที่ให้สามารถประมวลผลแสดงข้อมูลทับซ้อนกัน ระหว่างฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ฐานข้อมูลจุดความร้อนสะสมในพื้นที่การเกษตร พิกัดสถานที่ที่มีความสามารถในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM ๒.๕ เพื่อให้การส่งเสริมการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายพีรพันธ์ กล่าว. คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม