Thursday, 19 December 2024

คณะแพทย์ รามาฯ ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จครั้งแรกในไทย-อาเซียน

วันนี้ (๑๐ เมษายน ๒๕๖๗) ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น ๕ อาคารสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ภายใต้กลุ่มศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ จัดงานแถลงข่าว “ความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic Assisted Kidney transplantation) ๓ ราย เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้และความสำเร็จครั้งสำคัญของการผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้แก่ผู้ป่วย ที่นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดผสานความรู้ความสามารถจากผู้เชี่ยวชาญของไทยและจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผลสำเร็จนี้ได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศศ.นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดว่าเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์ด้านศัลยกรรมด้วยหุ่นยนต์ ทำให้การปลูกถ่ายไตประสบความสำเร็จ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนางานด้านนี้ จึงจัดสรรงบประมาณซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci Xi มาใช้ในการผ่าตัดต่างๆ เช่น การผ่าตัด ปลูกถ่ายไต ผ่าตัดมะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก และอวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น โดยเป็นผู้บุกเบิกงานด้านปลูกถ่ายอวัยวะด้วยหุ่นยนต์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสำเร็จของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดร่วมกับทีมแพทย์จาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้โครงการปลูกถ่ายไตจากพื้นฐานสู่ขั้นสูง (Basic to advance in Kidney Transplantation) โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินกิจกรรม โดยจุดประสงค์หลักของความร่วมมือภายใต้โครงการ MFA-MU Capacity Building for Medical and Health Science Education Hub ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรที่ได้รับองค์ความรู้และนำเทคนิควิธีการที่ทันสมัยไปขยายผล และถ่ายทอดให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ Medical Diplomacy ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในสาขาการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นในปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลาเกือบ ๓ ปี โดยมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงการอุทิศตนเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะในด้านการปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นการแพทย์ขั้นสูง ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ และขอขอบคุณกรมความร่วมมือระหว่างประเทศที่ผลักดันให้โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตลอดจนเป็นแบบอย่างของการส่งเสริมความร่วมมือทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีนางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยกับต่างประเทศ โดยมีบทบาทหลัก ๒ ประการ ได้แก่ การเชื่อมโลกสู่ไทย และการเชื่อมไทยสู่โลก ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือฯ กับมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้โครงการ MFA – MU Capacity Building for Medical and Health Science Education Hub ที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างท่านอธิบดี กรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทกรมความร่วมมือฯ ทั้ง ๒ ด้านได้ดีที่สุดการแถลงข่าว “ความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด จำนวน ๓ ราย เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และอาเซียน ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil (เรงเอล) University Hospital ประเทศฝรั่งเศส ในวันนี้ นับได้ว่าเป็นการเชื่อมโลกสู่ไทย โดยการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีศักยภาพทางการแพทย์ขั้นสูง เพื่อนำความรู้ เทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มาพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของการแพทย์ไทยให้เป็นมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นและในระหว่างปี ๒๕๖๕ กรมความร่วมมือฯ ได้สนับสนุน รพ.รามาธิบดี ในการถ่ายทอดความรู้ และฝึกอบรมด้านการปลูกถ่ายไต ให้แก่คณะบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลมิตรภาพของ สปป.ลาว จำนวน ๒ ครั้ง รวม ๑๙ ราย โดยไทยสามารถช่วยเหลือบุคลากรของฝ่ายลาวในการมีความพร้อมทั้งในด้านทฤษฎี และการดูแลรักษาผู้ป่วยการปลูกถ่ายไต และผู้บริจาคไต นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังสามารถสร้างเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลมิตรภาพ เพื่อต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในด้านต่างๆ ในอนาคตต่อไป ซึ่งกิจกรรมในรูปแบบนี้คือการเชื่อมไทยสู่โลก โดยนอกจากการเป็นที่ยอมรับในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปในเวทีระหว่างภูมิภาคในหลายๆ โอกาสต่อไปด้วยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเสริมสร้างองค์ความรู้และศักยภาพด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเพื่อสามารถแสดงบทบาทการเป็น Medical Diplomacy (การทูตเชิงเวชการ) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งของไทยและประเทศในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เราเป็นศูนย์ปลูกถ่ายไตที่ให้บริการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศโดยทำการปลูกถ่ายไตสำเร็จมาแล้วกว่า ๓,๐๐๐ ราย และมีผู้ป่วยมารอรับการปลูกถ่ายไตมากที่สุด ปัจจุบันทำการปลูกถ่ายไตในคนไข้ทุกสิทธิทั้งบัตรทอง ประกันสังคมและสิทธิข้าราชการโดยเท่าเทียมกัน ทั้งยังเป็นสถาบันพี่เลี้ยงและฝึกอบรม ดูงานด้านการปลูกถ่ายไตให้กับโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ มีการพัฒนาการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ปลูกถ่าย ๒ ไตในคนไข้คนเดียว การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ข้ามหมู่เลือด การปลูกถ่ายตับอ่อนพร้อมไต และเป็นศูนย์ฝึกอบรมการปลูกถ่ายไตและตับอ่อนให้แก่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับในอนาคตการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในประเทศไทย จะมีบทบาทมากขึ้น ถึงแม้ค่าชุดเครื่องมือยังคงมีราคาสูง ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงได้ตัดสินใจให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วย ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนับเป็นก้าวย่างสำคัญของการปลูกถ่ายอวัยวะโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การปลูกถ่ายไตแบบเปิดแผลกว้าง เป็นวิธีปกติที่ใช้กันมานาน ๗๐ ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการปลูกถ่ายไตครั้งแรกของโลก สำหรับการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเริ่มครั้งแรกที่ประเทศอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยในปัจจุบันการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปรวมถึงประเทศเกาหลีใต้ แต่ยังไม่เคยมีการผ่าตัดวิธีนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน นวัตกรรมการผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยใช้หุ่นยนต์ผ่านกล้อง ช่วยทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำทั้งในคนปกติและคนอ้วน โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณช่องท้องที่ลึก รวมทั้ง แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว การผ่าตัดวิธีนี้ช่วยลดความเจ็บปวด ลดการเสียโลหิต และลดโอกาสการเกิดน้ำเหลืองขังเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด และมีภาวะแทรกซ้อนจากแผลน้อยกว่ารศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้หุ่นยนต์ช่วยปลูกถ่ายไตสามารถลดความจำเป็นของการใช้หลอดเลือดที่ยาวจากไตของผู้บริจาค ทำให้มีความปลอดภัยของผู้บริจาคไตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการใช้หุ่นยนต์ช่วยทำให้ศัลยแพทย์สามารถเย็บต่อหลอดเลือดในบริเวณลึกได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้ทำการผ่าตัดร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส สำหรับผลลัพธ์การปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า ผู้ป่วยทั้ง ๓ ราย มีวันเฉลี่ยนอนโรงพยาบาลประมาณ ๙ วัน โดยไตทำงานได้ดี มีค่าซีรั่มครีเอตินินเท่ากับคนปกติ ทั้งนี้ ในการดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนา ต่อยอด และเรียนรู้ทั้งทางเทคนิค การติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยอยู่อย่างต่อเนื่อง