Sunday, 19 January 2025

โรงงานลับแลรีไซเคิล ซ่อนขยะพิษมูลค่าสูง

“ค่าการทดสอบการปนเปื้อนแคดเมียมในดินที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง โดยหน่วยงานราชการเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว พบเกินค่ามาตรฐาน ๔๕๗ เท่า…เห็นชัดครับว่า มีการขนมาหลอมที่นี่นานแล้ว #รัฐต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ #eecระ… #รัฐอิสระคลองกิ่ว”ผู้อยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อมด้วยหัวใจ แชร์โพสต์ข้อความข้างต้นนี้ไว้ในโลกออนไลน์อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม บอกว่า น่ากลัวสำหรับทุนจีนสีเทาที่มาตั้งโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย…ควรตรวจสอบเร่งเอกซเรย์ทุกแห่งประเด็นที่หนึ่งที่น่าสนใจ…การตรวจพบขยะกากแคดเมียมเกือบ ๗,๐๐๐ ตัน มาเก็บไว้โกดังของโรงงานรีไซเคิลขยะของจีนที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรีซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ “ทุนบริษัทรีไซเคิล” สัญชาติจีนมาตั้งมากที่สุด ในปี ค.ศ.๒๐๑๕ “จีน” นำเข้าขยะมากกว่า ๔๙.๖ ล้านตัน ถือเป็น “ถังขยะโลก” โดยเมืองกุยหยู มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีนมีประชาชนมากกว่า ๕,๐๐๐ คน ที่ทำการแยกชิ้นส่วนจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยมือเปล่าส่งขายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม…ทำให้มีประชาชนเจ็บป่วยจำนวนมากอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี ๒๐๑๘ จีนได้ประกาศยกนโยบายยกเลิกการนำเข้าขยะรีไซเคิลทั้งหมด และผลักดันให้ “โรงงานรีไซเคิลขยะของจีน” ให้ย้ายฐานออกจากประเทศจีนไปยังประเทศที่มีกฎหมายการควบคุมที่อ่อนแอ สามารถตั้งโรงงานได้ง่ายประเด็นสำคัญมีว่า…ประเทศในแถบอาเซียนถือเป็นเป้าหมายลำดับแรกก็คือทั้ง “ประเทศไทย” และ “มาเลเซีย”ประเทศไทยตั้งโรงงานรีไซเคิลได้ง่ายจากนโยบายจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๔/๒๕๕๙ สามารถตั้งได้โดยยกเว้นกฎหมายผังเมืองกับนโยบาย BCG Model โดยเน้น ๓R คือ ลดการใช้…reduce ใช้ซ้ำ…reuse และรีไซเคิล…recycle ทำให้ทุนจีนรุกคืบเข้ามาตั้งโรงงานรีไซเคิลในพื้นที่แถบภาคตะวันออกจำนวนมากซึ่งมีข้อได้เปรียบสำคัญหลายประการก็คือทั้ง…วัตถุดิบอยู่ใกล้พื้นที่ EEC และอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ส่งสินค้าที่รีไซเคิลแล้วขนส่งกลับไปขายประเทศตนเองได้ง่าย อาจารย์สนธิ คชวัฒน์พุ่งเป้าไปที่พื้นที่คลองกิ่ว บ้านบึง จ.ชลบุรี ท่าน สส.ในพื้นที่และหน่วยงานรัฐเพิ่งไปจับกุมโรงงานรีไซเคิลสัญชาติจีน ๓ บริษัทในพื้นที่ ๘๘ ไร่ ที่ซึ่งเป็นเจ้าของโกดังที่ซุกกากแคดเมียมไว้ กรณีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา….แต่…กลับมีการขนกากแคดเมียมจากจังหวัดสมุทรสาครเกือบ ๗,๐๐๐ ตัน มาเก็บไว้ในโกดังอีกด้วยคาดว่า…โรงงานดังกล่าวได้ซื้อกากแคดเมียมมาจากสมุทรสาครเพื่อเตรียมส่งประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งทำการหลอมและสกัดเพื่อแยกเอาแร่สังกะสี แร่แคดเมียม และแร่ทองแดงออกมาแล้วส่งไปขายที่ประเทศจีน ซึ่งได้ราคาสูงกว่าหลายเท่าถึงตอนนี้คงต้องให้ความสำคัญไปที่ “จุดอ่อน” ของระบบกำกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตราย กรณี…“กากแคดเมียม”อาจารย์สนธิ ย้ำว่า ระบบการอนุญาตให้นำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานก่อกำเนิดและโรงงานรับการจัดการกากปลายทางมีปัญหา กรณีนี้โรงงานต้นทางคือ บริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ จำกัด จ.ตาก จะต้องยื่นขออนุญาต เพื่อนำกากแคดเมียมออกไปจัดการกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หรือ กรอ. ก่อนสิ้นปี (สก.๒ เดิม) ว่ามีประเภทอะไรบ้าง ปริมาณเท่าใด ขนออกไปที่ไหนบ้าง ขนออกเดือนไหนบ้างรวมทั้งโรงงานรับจัดการปลายทางคือโรงงาน บริษัท เจแอนด์บีเมททอล จำกัด จ.สมุทรสาคร จะต้องมีการเซ็นรับรองด้วยว่าสามารถจัดการกากดังกล่าวได้ เช่น กำจัดหรือรีไซเคิลได้จริง ดังนั้น “หน่วยงานอนุญาต” ย่อมรู้ว่าเป็น “กากแคดเมียม”ที่อันตรายและเงื่อนไขใบอนุญาตห้ามขุดหรือขนย้ายออกและโรงงานปลายทางเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตรีไซเคิลและหลอมอะลูมิเนียมไม่ใช่สังกะสีแคดเมียม…แต่ไปอนุญาตได้อย่างไร ผิดกฎหมายชัดเจนขณะที่ขนส่งกากออก…รถยนต์ที่ขนต้องติดตั้ง GPS ส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานอนุญาตและใช้ใบกำกับการขนส่งหรือใบ “manifest” ที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดว่ามีกากออกจากต้นทางและรับปลายทาง ปริมาณและชนิดตรงกันหรือไม่ แต่กลับมีกากแคดเมียมขนไปยังโรงงานของบริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์เทค (๒๐๐๘) จำกัด อ.เมืองสมุทรสาคร และโรงงาน อิฟง จำกัด อ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นของคนจีนทั้งหมด…แต่หน่วยงานราชการที่ตรวจสอบเส้นทาง GPS และใบกำกับการขนส่งกลับไม่ทราบ…จนเวลาล่วงเลยมาถึง ๘ เดือน ตั้งแต่สิงหาคม ๒๕๖๖ จนต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๗ แสดงว่าระบบนี้อาจมีปัญหาอีกทั้งโรงงานต้นทางที่ จ.ตาก ขายกากแคดเมียมต่อให้โรงงานปลายทางใน จ.สมุทรสาคร และโรงงานใน จ.สมุทรสาคร ขายกากต่อให้โรงงานใน จ.ชลบุรี และกำลังจะส่งออกไปต่างประเทศโดยทางเรือ กรณีแบบนี้ทำได้อย่างไร? ทำไมหน่วยราชการที่กำกับดูแลไม่ทราบ กังวลว่า…อาจมีกรณีเช่นนี้อีกหลายรายโดยเฉพาะกากอันตรายที่มีค่า เพราะกากแคดเมียมสามารถไปสกัดเป็นแร่แคดเมียมนำไปทำแบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียมได้ ซึ่งราคาในตลาดโลกค่อนข้างสูงถึงกิโลกรัมละ ๔.๑ ดอลลาร์สหรัฐฯดังนั้น…แร่แคดเมียม ๑ ตัน จะมีราคาประมาณ ๑ แสน ๔ หมื่นบาท…ให้รู้ต่อไปอีกว่า…โรงงานที่ขออนุญาตรีไซเคิลโลหะ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะทำการหลอมกลางคืนเพราะค่าไฟฟ้าราคาถูกกว่ากลางวัน จะทราบได้อย่างไรว่ากากที่นำมาหลอมอาจเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายประเภทอื่นที่มีค่าหรือไม่ เช่น กากแคดเมียม สังกะสี ปรอท ทองแดงปุจฉาสำคัญวันนี้คือ…หน่วยงานมีระบบการตรวจสอบอย่างไร? เพื่อให้เกิดการคุ้มครองต่อสุขภาพของประชาชน ถึงแม้จะต้องมีการส่งรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ปลายปล่องให้หน่วยงานอนุญาตทราบปีละ ๒ ครั้ง แต่โรงงานเป็นผู้จ้างที่ปรึกษามาตรวจวัดเอง… ดังนั้นผลที่ออกมามักจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดทุกครั้งตอกย้ำทิ้งท้ายให้ชัดเจนว่า…กรณีนำ “กากแคดเมียม” ไปเก็บที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดชลบุรีจำนวนมากนั้น หากประชาชนไม่แจ้งเบาะแสแก่กรรมาธิการอุตสาหกรรมสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนว่า…คงไม่มีใครทราบและคงไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบ“รัฐควรเร่งออกกฎหมายเป็น พระราชบัญญัติการเปิดเผยการปลดปล่อยมลพิษและการเก็บสารเคมีและสารพิษในแหล่งกำเนิดต่อสาธารณชนหรือกฎหมาย PRTR ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีเพื่อให้ประชาชนรับทราบและร่วมเป็นวอชด็อกในการเฝ้าระวังการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน”“รัฐ” ต้องเร่งปฏิรูประบบการจัดการ “กากอุตสาหกรรม” ให้มีความรัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินการด้วยโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนกลับมาไว้วางใจและศรัทธาต่อระบบและการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม