Thursday, 19 December 2024

สงกรานต์ ๒๕๖๗ วันที่ ๒ ดับแล้วรวม ๖๓ ศพ เจ็บ ๕๕๐ ราย ตายสูงสุด "ร้อยเอ็ด"

๗ วันอันตราย วันที่ ๒ “สงกรานต์ ๒๕๖๗” ดับแล้วรวม ๖๓ ศพ บาดเจ็บ ๕๕๐ ราย เสียชีวิตสูงสุด “ร้อยเอ็ด ๕ ราย” สาเหตุ “ขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ” ศปถ.ประสานจังหวัดเฝ้าระวังจุดเสี่ยง เข้มดูแลความปลอดภัยพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เม.ย. ๖๗ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๖๗ สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๗ เกิดอุบัติเหตุ ๓๐๗ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๙๙ คน ผู้เสียชีวิต ๓๘ ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๒ วันของการรณรงค์ (๑๑-๑๒ เม.ย. ๖๗) เกิดอุบัติเหตุ รวม ๕๔๑ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม ๕๕๐ คน ผู้เสียชีวิต รวม ๖๓ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๔๒ จังหวัด ศปถ.ได้ประสานจังหวัดบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดและจริงจัง โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ และผู้กระทำความผิดซ้ำตามกฎหมายจราจรทางบก รวมถึงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงบริเวณถนนทางหลวง เส้นทางสายรองถนน อบต. หมู่บ้าน เน้นการจัดตั้งจุดตรวจบริเวณเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเตรียมความพร้อมด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งคุมเข้มการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณที่มีการพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) และสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งเพิ่มความเข้มข้นดูแลความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๖๗ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๖๗ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์“ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ ๓๐๗ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๙๙ คน ผู้เสียชีวิต ๓๘ ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ ๔๑.๓๗ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ ๒๑.๑๗ ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ ๒๐.๒๐ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๔.๙๑ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ ๘๖.๓๒ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๔๐.๐๗ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๒๕.๗๓ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา ๑๖.๐๑-๑๗.๐๐ น. และเวลา ๑๙.๐๑-๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๗.๔๙ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ ๒๐-๒๙ ปีร้อยละ ๑๘.๖๙ จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๑,๗๖๒ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๕๑,๔๙๖ คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พะเยา (๑๕ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และพะเยา (๑๔ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และเชียงราย (๓ ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๒ วันของการรณรงค์ (๑๑-๑๒ เม.ย. ๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๕๔๑ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม ๕๕๐ คน ผู้เสียชีวิต รวม ๖๓ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๔๒ จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย และประจวบคีรีขันธ์ (๒๑ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสงขลา (๒๒ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด (๕ ราย) พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า วันนี้เป็นวันมหาสงกรานต์และเป็นวันปีใหม่ของคนไทย ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางไปทำบุญและสรงน้ำพระ รวมถึงเล่นน้ำสงกรานต์ ทำให้ถนนสายหลายมีปริมาณจราจรหนาแน่น ศปถ.ได้ประสานจังหวัดคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติทางถนนผ่านกลไกในพื้นที่ โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และอาสาสมัคร เฝ้าระวังจุดเสี่ยงบริเวณถนนทางหลวง เส้นทางสายรอง ถนน อบต. หมู่บ้าน พร้อมเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรรมเสี่ยงอุบัติเหตุและผู้กระทำความผิดซ้ำตามกฎหมายจราจรทางบก รวมถึงดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณที่มีการพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) และสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งควบคุมสถานบริการให้เปิด-ปิดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด สำหรับจังหวัดที่มีการสัญจรทางน้ำและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำให้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี และเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ปฏิบัติการเข้มข้นในจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง พร้อมดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำของประชาชนไม่ให้มีการเล่นน้ำบริเวณเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุในเส้นทางสายหลักและสายรอง รวมถึงควบคุมไม่ให้เล่นน้ำในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย อีกทั้งคุมเข้มการจัดตั้งจุดตรวจบริเวณเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น และความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุ และส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสืบสานประเพณีสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทยบนพื้นฐานของความปลอดภัย ท้ายนี้ขอฝากให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ๑๗๘๔” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @๑๗๘๔DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป”.