กลับมาเป็นจุดโฟกัสอีกครั้งสำหรับสถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” เมียนมา ที่ปะทุจากเหตุการณ์รัฐประหาร ๑ กุมภาพันธ์๒๕๖๔ จนนำไปสู่การสู้รบยืดเยื้อในรัฐต่างๆมานานกว่า ๓ ปีหลังจากกองกำลังผสมกลุ่มชาติพันธุ์ประสบความสำเร็จในการบุกตี ค่ายทหารระดับกองพันของกองทัพเมียนมา ไม่ไกลจากเมือง “เมียวดี” เมืองด่านข้ามพรมแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของประเทศไทยงานนี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานขยี้ทันทีตั้งแต่วันแรกว่า “เมืองเมียวดีถูกตีแตก” ทหารเมียนมาได้ยอมจำนนวางอาวุธต่อกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “เคเอ็นยู” พร้อมพากันขยายความไปว่า รัฐบาลทหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กำลังสั่นคลอนอย่างรุนแรง ไม่แน่ว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบเผด็จการทหารทัดมาดอว์ ศัตรูของระบอบประชาธิปไตยสอดประสานกับการวิเคราะห์ที่ไหลบ่าเต็มโลกออนไลน์ว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย อยู่ไม่รอดแน่นอน เพราะเมืองเมียวดีคือเมืองการค้าพรมแดนสำคัญ ที่มีมูลค่าสูงกว่า ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า ๓๖,๐๐๐ ล้านบาท เม็ดเงินดังกล่าวคือท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของรัฐบาล และจะทำให้ฝ่ายต่อต้านมีทรัพยากรมากขึ้นสำหรับการทำศึก เผลอๆบรรดาทหารอาจต่อต้านรัฐบาลอยู่ลึกๆไม่อยากจับปืนสู้รบอีกต่อไป เห็นได้จากข่าวการยอมจำนนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ใน “รัฐกะเหรี่ยง” แต่ยังรวมถึงรัฐในภูมิภาคอื่นๆ ไล่ตั้งแต่ฉาน คะฉิ่น ชีน ยะไข่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเมียนมากำลังเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่สมควรได้รับการตั้งคำถามโดยเฉพาะในฉากของ “ความมั่นคง” ภายใต้กรอบความหลาก หลายทางเชื้อชาติ ประการแรกนั้นประเทศเมียนมาประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์นับร้อยกลุ่ม ซึ่งการจะทำความเข้าใจให้เห็นภาพที่ชัดเจน จะเป็นเรื่องง่าย กว่าที่จะจดจำไปทีละรัฐ โดยรัฐที่กำลังมีปัญหาชัดเจนกับรัฐบาล ณ เพลานี้ ประกอบไปด้วยรัฐ ยะไข่ และ รัฐชีน ทางภาคตะวันตก ฐานที่มั่นของกลุ่มชาติพันธุ์ “อาระกัน” (โรฮีนจา) ตามมาด้วย รัฐสะกาย และ มัณฑะเลย์ ทางภาคเหนือและภาคกลางตอนเหนือ ฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธประชาชน PDF ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา ข้าราชการ และอดีตนักการเมืองสังกัดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่จับปืนเข้าป่าต่อต้านการรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาลจากนั้นจึงข้ามมายังภาคตะวันออก-ตะวันออกเฉียงเหนือ คือ รัฐคะฉิ่น ฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธคะฉิ่น “เคไอเอ” และรัฐฉาน ฐานที่มั่นของกองทัพรัฐฉาน ว้าแดง ไทยใหญ่ (แต่ที่กำลังมีปัญหารบพุ่งกับรัฐบาลคือกลุ่มโกก้างเชื้อสายจีนฮั่น ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตะเข็บพรมแดนตอนเหนือของรัฐฉาน) ก่อนมองลงมาที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ คือรัฐ กะยา และรัฐ กะยิน หรือที่ไทยเรียกรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังกะเหรี่ยง “เคเอ็นยู” เป็นหลัก ภายหลังจากที่กะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ ยอมญาติดีกันเพราะมองรัฐบาลเมียนมาเป็น “ศัตรูร่วม”สิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองเมียนมาครั้งนี้ คือการที่กองกำลัง PDF พยายามทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน “ตัวกลาง” ขอความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆรบกับกองทัพ ทัดมาดอว์รัฐบาลกลาง แต่ก็เห็นได้ชัดด้วยว่า กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จะไม่รุกคืบนอกเหนือจากพื้นที่อิทธิพลของตัวเอง อย่างกรณีที่กลุ่มกะเหรี่ยงเคยท้าทายบุกเข้าไปในรัฐพะโค ซึ่งเป็นรัฐกึ่งกลางระหว่างนครย่างกุ้งกับกรุงเนปิดอว์ แต่สุดท้ายก็ถอนกำลังออกมา ไม่ยอมไปต่อ ประการต่อมากองทัพเมียนมาที่ประจำการอยู่ในรัฐต่างๆถือเป็นหน่วยรบที่เปรียบเสมือน “ทหารยาม” ทำหน้าที่เข้ารักษาความสงบ เวลาที่กลุ่มชาติพันธุ์ก่อเหตุโจมตีประปรายในรัฐที่หน่วยรบดังกล่าวประจำการอยู่ หรือไม่ก็ดูอยู่ห่างๆเฝ้าระวังไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามในกรณีที่กลุ่มชาติพันธุ์ขัดแย้งผลประโยชน์ “รบกันเอง” ส่วนกองพลหัวกะทิต่างๆซึ่งเป็นกำลังรบหลัก ทางกองทัพเมียนมาได้ถอนกำลังออกจากรัฐรอบๆกลับมาอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางอย่างนครย่างกุ้งและกรุงเนปิดอว์ ยังไม่ได้ถูกส่งไปจัดการกับกองกำลังชาติพันธุ์แต่อย่างใดแน่นอนว่า ปัจจัยเรื่องขวัญกำลังใจของทหารเมียนมาที่ไม่อยากรบราฆ่าฟันชาวพม่าด้วยกันเอง อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือว่า ทหารเมียนมาจาก “ส่วนกลาง” มองกลุ่มชาติพันธุ์อย่างกะเหรี่ยงแบบเดียวกับที่มองนักศึกษาเข้าป่าจับปืนหรือไม่ และเอาเข้าจริงแล้วการที่กองทัพเมียนมาดูเพลี่ยงพล้ำมาตลอดในรัฐต่างๆถือเป็นยุทธศาสตร์ รักษากำลังเพื่อเก็บไว้ไปใช้ในจุดที่จำเป็นจริงๆ หรือเปล่าหากติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด จะเห็นได้ว่ากองทัพเมียนมาให้ความสำคัญในการถล่มโจมตีรัฐ “สะกาย” ฐานที่มั่นของกลุ่ม PDF อย่างหนักหน่วงมาโดยตลอด ใช้อาวุธหนักทั้งยานเกราะ เฮลิคอปเตอร์จู่โจมและเครื่องบินรบ ซึ่งตีความได้หรือไม่ว่า รัฐบาลมีความเข้าใจดีว่าศัตรู “เบอร์หนึ่ง” คือ กลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองโลกเสรีอย่างแรงกล้า ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐบาลเมียนมาเคยมีประสบการณ์ในการเจรจาหารือมาโดยตลอด และสุดท้ายมักจะตกลงกันได้หากส่วนกลางยอมรับเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ผลประโยชน์” ทางธุรกิจ(ขาว-เทา-ดำ) และ “สิทธิในการปกครองตนเองเพิ่มเติม”ดังนั้นการสรุปว่า ความพ่ายแพ้ที่เมืองเมียวดี คือจุดจบของรัฐบาลทหารเมียนมา จึงเป็นเรื่องที่ยังมีความห่างไกล อีกทั้งก็เริ่มมีรายงานแล้วว่า กองทัพเมียนมาเริ่มการส่งกำลังมาที่เมืองผาอัน เมืองเอกของรัฐกะยิน ห่างจากเมียวดีประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร จนทำให้สื่อท้องถิ่นเริ่มตีข่าวว่า “ประเทศไทย” ควรทำอะไรสักอย่าง หากไม่อยากเผชิญกับการไหลบ่าของผู้อพยพหนีไฟสงคราม..กองทัพเมียนมายังไม่ทันบุกมา ก็ส่งสัญญาณเช่นนี้ ก่อให้เกิดคำถามด้วยว่า หากทัดมาดอว์เคลื่อนพลจริง จะรับมือไหวหรือไม่…เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป.วีรพจน์ อินทรพันธ์คลิกอ่านคอลัมน์ “๗ วันรอบโลก” เพิ่มเติม