คนไทยได้ปลื้ม…ที่ยูเนสโกส่งท้ายปี ๒๕๖๖ ขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไม่กี่เดือนต่อมา…“กัมพูชา” ก็ยื่นเอกสารขอยูเนสโกยกสงกรานต์เหมือนอย่างไทยในปี ๒๐๒๕ บ้าง…ซึ่งคงไม่มีปัญหาเพราะประเพณีนี้กูรูผู้รู้บอก…ถือกำเนิดจากอินเดียแล้วสืบสานกันเรื่อยมา ทั้งในอินเดีย ศรีลังกา จีนสิบสองปันนา หรือในกลุ่มประเทศอาเซียนก็มีด้วยกันทั้งนั้นและการที่ยูเนสโกประกาศให้ไทยครั้งนี้ ก็ด้วยข้อความที่หมายถึง “สงกรานต์ในไทย” ที่หาใช่ “สงกรานต์ของไทย” ไม่ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อประเพณีดังกล่าวจะมีการประกาศซ้ำอีกครั้งปีหน้าเป็น “สงกรานต์กัมพูชา” ซึ่งหมายถึงสงกรานต์ในกัมพูชา ทันทีที่ยูเนสโกโดย ๑๙๓ ประเทศสมาชิกยินดีมอบแด่ไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้ปกป้องมรดกตัวจริงจึงรีบรับบทเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลอง ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเนื่องจากวัฒนธรรมชิ้นนี้ไทยสืบสานกันมาช้านาน จนผิดเพี้ยนเป็นวัฒนธรรมประยุกต์มีตำหนิ กลายเป็นความเข้าใจกันว่าคือการเล่นสาดน้ำกันแบบ “เฟส แอนด์ ฟัน” มากกว่าเทศกาลงานบุญและรื่นเริงช่วงฤดูร้อนประจำปีผู้สันทัดกรณีให้ข้อสังเกต…สงกรานต์ปีนี้ถูกการเมืองฉกฉวยให้คำมั่นสัญญาจำแลงกับประชาชน ให้รอหม้อแกง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่รัฐบาลเอิ้นตอนหาเสียง ทุกคนจะได้เงินฟรีปีใหม่สากลแต่ทอดยาวถึงปีใหม่ไทย แล้วซื้อเวลาไม่มีอะไรให้น่าเชื่อถือ กระทั่งเคาะล่าสุดได้เฮในไตรมาสสุดท้ายปลายปี?อีกคอนเทนต์จะปลุกสงกรานต์โยงใยเป็นซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่โจ เซฟ เนย์ แห่งมหา’ลัยฮาร์วาร์ด วางทฤษฎีเอาไว้ แต่ผู้สันทัดกรณีรายเดียวกันก็เกริ่นกล่าวออกแนวรู้ทันเกมด้วยมองว่า…เป็นการทอดบันไดรับทายาทการเมือง ประกอบดราม่าก่อนไต่ขึ้นสู่ยอดพีระมิดประเทศหรือไม่?สำทับด้วยนักวิชาการด้านสังคมและมานุษยวิทยารุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ที่ชี้ว่า…ซอฟต์พาวเวอร์อีเวนต์นี้ จะใช้สงกรานต์ ๒๑ วันขับเคลื่อนท่องเที่ยวเป็นตัวตึงดึงทัวริสต์อินบาวด์จากทั่วโลกมาเอนจอยสาดน้ำประแป้งลูบหน้าลูบถันกันในบ้านเรา“แต่เดิมเราอนุรักษ์ประเพณีรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ หรือหนุ่มสาวรดน้ำกันด้วยน้ำอบไทยใส่ดอกมะลิ เสร็จแล้วตักบาตรทำบุญก่อเจดีย์ทรายรื่นเริงแบบไทยๆ”แต่ปัจจุบันนักสังคมบอก “มันอาจจะล้าหลังสำหรับสังคมคนรุ่นใหม่ ที่รักสนุกขนตุ่มใส่น้ำไว้ท้ายรถกระบะหรือวางไว้หน้าบ้านกลางชุมชน แล้วใช้ท่อแรงดันสูงหรือไม่ก็ปืนพลาสติกฉีดใส่โดยปิดถนนเล่นกันเสรี แย้งกับข้อเท็จจริงที่ยูเนสโกเจตนาประกาศให้ทั่วโลกรับรู้” อีกทั้ง “มหากาพย์ซอฟต์พาวเวอร์สงกรานต์” ปีนี้คาดจะเกิดรายได้ ๕-๘ หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยว ๘-๑๐ ล้านคน ไปสู่ทั้งปี ๓๕ ล้านคน…ทำรายได้ ๒.๕๒ ล้านล้านบาท แลกกับงบ “ซอฟต์พาวเวอร์” ทั้งปี ๕,๑๖๔ ล้านบาท โดยตัดหนุนสงกรานต์ทั่วประเทศ ๑,๐๐๙ ล้านบาทโหมดนี้ประธานสาวคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้โพสต์ยืนยันในเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ก่อนหน้า…“เราจะปักหมุดให้สงกรานต์ไทยเป็นเทศกาลที่คนทั้งโลกต้องบินมาเล่น และไม่เล่นกันแค่ ๓ วัน แต่จะจัดกันทั้งเดือนทั่วประเทศ ๗๗ จังหวัดเพื่อวางแผนจะไปเล่นน้ำสงกรานต์จังหวัดไหน? และไทยจะได้ชื่อ ๑ ใน ๑๐ ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก”ประเด็นออร่าที่ว่าจะชูเล่นน้ำกันหัวปักหัวปำเกือบหนึ่งเดือน…สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนด้านโบราณคดีระดับแนวหน้า เคยเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนหลายปีก่อน ในหัวข้อ “สาดน้ำสงกรานต์ไม่มี” ยังพอจะนำมาเตือนสติได้กับสถานการณ์สงกรานต์ปีนี้สุจิตต์เขียนว่า “ประเพณีสงกรานต์ไทยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสาดน้ำแม้แต่น้อย ความคิดเรื่องการสาดน้ำใส่กันเพิ่งมีมาในยุคหลัง และการท่องเที่ยวก็ทำให้การเล่นน้ำสงกรานต์กลาย เป็นที่นิยมขึ้นอย่างกว้างขวาง”ทั้งยังเสริมอีกว่า “โคลงทวาทศมาสสมัยต้นอยุธยานั้น ไม่ได้กล่าวถึงการสาดน้ำเอาไว้ ถ้าจะย้อนไปสมัยสุโขทัยไม่พบหลักฐานการเขียนอันใดระบุถึงประเพณีสงกรานต์…ส่วนในกาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้ากุ้งปลายสมัยอยุธยากล่าวถึงสงกรานต์ แต่ไม่มีเรื่องการสาดน้ำ” ตรงนี้จึงถึงคำถามสำคัญ…อ้าว! แล้วใครล่ะ? ไปหยิบประเพณีส่วนเกินนี้มาจากไหน? แต่เอาเถอะ…ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่ออนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล ในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ฯ อุตส่าห์เขียนคอนเทนต์เสนอใช้กรุงเทพฯ เปิดตัวมหกรรมแล้วกระจายไปภูมิภาคต่างๆ ให้โอกาส “ทัวริสต์” มา “ทัวร์ไทย” ทั้งทีได้เล่นสาดน้ำสะใจ โดยอยากให้ทบทวนสถิติ ๗ วันอันตรายปีที่แล้ว เกิดอุบัติเหตุ ๒,๒๐๓ ครั้ง ตาย ๒๖๔ ศพ เจ็บ ๒,๒๐๘ คน…ปีนี้…ขยายเป็น ๒๑ วันจะสังเวยชีวิตให้ยมบาลบวกบาดเจ็บพิการอีกเท่าไร แน่นอนว่าคงยังไม่มีใครสามารถตอบได้?อย่างไรก็ตาม เมื่อยูเนสโกประกาศเป็นเรือธงให้ประเพณีสงกรานต์ในไทยเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว ยังมีเสียงรัฐบาลขานรับจะใช้ท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ…ก็น่าจะมีความเป็นไปได้กับ “เม็ดเงิน” และ “จำนวนคน” มาเที่ยวตามที่หวังกัลยกร เด็ดขาด เอ็มดีโคโคนัท ทราเวลฯ พัทยา ผู้ประกอบการทัวร์อินบาวด์ให้ความเห็นว่า… ถ้าเป็นตลาดไกลอย่างยุโรปอเมริกาคงต้องใช้กระบวนตลาดเต็มรูปแบบแต่สำหรับตลาดภูมิภาค เช่น อาเซียน เอเชีย ออสเตรเลีย มีความเป็นไปได้สูง เพราะการซื้อขายธุรกิจยุคนี้สะดวกผ่านระบบออนไลน์และที่สำคัญ…“สงกรานต์” เป็นเทศกาลที่ตลาดกลุ่มนี้คุ้นเคยอยู่แล้ว กัลยกร เด็ดขาดอีกทั้งวันไหลหลังสงกรานต์ ธุรกิจท่องเที่ยวที่บางแสน ศรีราชา พัทยา จังหวัดชลบุรี จับมือกันสร้างจุดขายโดยไม่มีการแข่งขันและขึ้นราคา โรงแรมทุกแห่งยินดีขายฟูลเรตให้คนไทยและต่างชาติ จะเป็นเอฟไอที หรือกรุ๊ปทัวร์เหมือนกันหมดทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ก็เพื่อขานรับกิจกรรมปิดถนนสาดน้ำ “เฟส แอนด์ ฟัน” ตลอด ๒๑ วัน สนองนโยบายอีเวนต์เฟสติวัล ที่รัฐบาลมอบให้แทนดิจิทัลวอลเล็ตไปพลางๆก่อน.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม
Related posts