Thursday, 19 December 2024

สงกรานต์เชียงใหม่ ๑๕ เม.ย. "พญาวัน" เปิดเล่นน้ำเขื่อนอุดมธารา

15 Apr 2024
112

สงกรานต์เชียงใหม่ วันที่ ๓ คึกคัก แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่ง คนหนาแน่น ที่เขื่อนอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด ปล่อยน้ำอนุญาตให้ประชาชนลงเล่นวิดน้ำสาดกัน เผย ๑๕ เม.ย. ถือเป็นวันดีที่สุดตามตำนานคือ พญาวันเวลา ๐๙.๓๐ น. วันที่ ๑๕ เม.ย. ๖๗ พ.ต.อ.ธงชัย กรรณิการ์ ผกก.สภ.ดอยสะเก็ดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แหล่งท่องเที่ยวในเขตรับผิดชอบอำเภอดอยสะเก็ด มีประชาชนนักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่เขื่อนอุดมธารา ทางเขื่อนได้ปล่อยน้ำทางประตูน้ำและอนุญาตให้ประชาชนลงเล่นน้ำ มีระดับไม่ลึก ประมาณ ๕๐ ซม. ไม่อันตราย มีประชาชนจำนวนมากลงไปเล่นน้ำกันเพื่อคลายร้อนจากอากาศที่ร้อนจัด ไปออกันบริเวณจุดปากทางน้ำไหลออก ลงเล่นน้ำวิดน้ำขึ้นสาดกันคล้ายกับของประเทศจีน ที่ลงเล่นน้ำกันจำนวนมากและวิดน้ำขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกัน แม้ของไทยไม่เหมือน แต่ทุกคนก็มีความสุข สนุกสนาน  นอกจากนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ในจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า วันสงกรานต์วันที่ ๑๕ เม.ย. ๖๗ นี้ ถือว่าเป็นวันดีที่สุด ชาวบ้านจะนำตุงไปปักที่กองทรายในวัด และทำบุญกันในวันที่ ๑๕ เมษายน ถือว่าเป็น “วันพญาวัน” เป็นวันดี ที่ยิ่งใหญ่ วันปีใหม่เถลิงศกแห่งราศี โชคลาภ เงินไหลกอง ทองไหลมา สำหรับอาหาร ชาวเหนือจะหารับประทานแกงขนุน, ตำขนุน (ตำมะหนุน) ลาบหมู แกงฮังเล และแกงโฮะ โดยพ่อค้าแม่ค้าจะทำออกมาจำหน่ายในช่วงนี้ และขายดี “ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปี๋ใหม่เมือง ของชาวล้านนา จะยึดถือเอาวันที่ ๑๓ – ๑๖ เมษายน ของทุกปี เป็นประเพณีที่สำคัญ มีพิธีทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับ พิธีรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่ให้ความเคารพนับถือ อีกทั้งเป็นวันรวมญาติผู้ที่ทำงานต่างถิ่นจะเดินทางกลับถิ่นฐานเพื่อกลับมาทำกิจกรรมกันตามประเพณี เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ของชาวล้านนามากมาย ส่วนเรื่องอาหารการกิน ก็จะสร้างสรรค์อาหารของท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษ เช่น การทำลาบ, ทำเหล้าหมัก หรือ เหล้าน้ำขาว เฉลิมฉลองในหมู่คณะ ถึงขั้นมีหลายหน่วยงานจัดประกวดกันขึ้นอย่างแพร่หลาย”แกงฮังเล เป็นอีกเมนูที่ทุกครัวเรือนนิยมปรุงขึ้นสูตรใครสูตรมันตามรสชาติที่ตนเองชอบ เพื่อใช้ทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปถึงผู้ล่วงลับ, เป็นอาหารทำบุญเจ้าที่เจ้าบ้านที่ปกปักรักษาให้อยู่ดีมีสุขมาตลอดทั้งปี และ “แกงฮังเล” ยังปรุงกินในครัวเรือนสุดแสนอร่อยอีกด้วย จาก “แกงฮังเล” สู่ “แกงโฮะ” หรือ “คั่วโฮะ” เป็นอีกเมนูเด็ดสุดยอดอันดับ ๑ ของชาวล้านนาในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง เมื่อ แกงฮังเล ที่เหลือจากการทำบุญ ก็จะนำมาปรุงอาหารใหม่ โดยเอาแกงฮังเลเป็นอาหารหลัก เอาอาหารชนิดอื่นเข้ามารวมด้วยก็ได้ เช่น ห่อหี่งเนื้อ-ไก่, ต้มจืด, เนื้อทอด และผักเก็บจากข้างรั้ว มีผักตำลึง ผักชะอม ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู หน่อไม้ดอง วุ้นเส้น อย่างละเล็กละน้อยใส่เข้าไป แล้วปรุงรสด้วยผงฮังเล กลายมาเป็น “แกงโฮะ” หรือ “คั่วโฮะ” ที่มีรสชาติจัดจ้าน ถูกปาก น่ารับประทานยิ่งนัก และที่ขาดไม่ได้ ปิดท้ายประเพณีปี๋ใหม่เมือง ชาวบ้านจะเก็บลูกขนุนอ่อนไว้ก่อนวันที่ ๑๖ เมษายน (วันปากปี๋) ชึ่งวันนี้ชาวบ้านจะงดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รวมถึงจะไม่เก็บผัก เตรียมอุปกรณ์ไว้แล้วล่วงหน้า แล้วมาปรุง “แกงขนุน” หรือ “ตำขนุน” กินกัน ถือว่าแกงขนุนเป็นอาหารมงคลในวันปากปี๋ ตามชื่อ “ขนุน” เมื่อกินอาหารมงคลนี้แล้ว เชื่อว่าจะส่งผลหนุนนำให้ชีวิตราบรื่นตลอดปีใหม่นี้ต่อไป