เผยทำอย่างไร กองทัพอิสราเอลและพันธมิตร สอยโดรนและสกัดขีปนาวุธอิหร่านที่ระดมยิงมากว่า ๓๐๐ ลูก ได้มากถึง ๙๙%๑๕ เม.ย. ๒๕๖๗ สำนักข่าว CNN รายงานว่า กองทัพอิสราเอลออกมาเปิดเผยว่า ขีปนาวุธและโดรนเกือบทั้งหมดกว่า ๓๐๐-๓๕๐ ลูก ที่อิหร่านยิงใส่อิสราเอล โดยพุ่งเป้าโจมตีฐานทัพทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของอิสราเอลในการโจมตีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ ๒๓ เมษายนที่ผ่านมา ได้ถูกสกัดและสอยร่วงมากกว่า ๙๙% โดยอิสราเอลเน้นย้ำถึงระบบป้องกันขีปนาวุธหลายชั้นที่น่าเกรงขามที่นำมาใช้โดย พล.ร.ต.แดเนียล ฮาการิ โฆษกกองทัพอิสราเอล ระบุว่า โดยรวมแล้วอิหร่านได้ส่งโดรนประมาณ ๑๗๐ ลำ ยิงขีปนาวุธร่อนมากกว่า ๓๐ ลูก และขีปนาวุธนำวิถีมากกว่า ๑๒๐ ลูก ใส่อิสราเอลในชั่วข้ามคืนวันเสาร์ ที่ผ่านมา แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ของอิหร่านส่วนใหญ่มากกว่า ๓๕๐ ลูก ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าถูกยิงจากภายในดินแดนของอิหร่าน ระหว่างการโจมตีนาน ๕ ชั่วโมง ถูกสกัดกั้นได้ก่อนจะถึงอิสราเอล ซึ่งอยู่ห่างจากการยิงมากกว่า ๑,๗๗๐ กิโลเมตร โดยอิสราเอลและพันธมิตรสามารถสกัดขีปนาวุธอิหร่านได้มากถึง ๙๙% โดยมีขีปนาวุธจำนวนไม่มากที่ยิงเข้าไปถึงอิสราเอลทางด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ระบุว่าถือเป็นชัยชนะสำหรับอิสราเอล เนื่องจากไม่มีอะไรที่สำคัญโดนโจมตี โดยโดรนมากกว่า ๗๐ ลำ และขีปนาวุธ ๓ ลูก ถูกสกัดกั้นโดยเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ติดระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิส (Aegis) นอกจากนี้ เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ยังยิงอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิหร่านตกด้วย โฆษกกองทัพอิสราเอลที่ระบุว่า ฝรั่งเศสมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยสกัดกั้นการโจมตีของอิหร่าน จากการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อังกฤษ ขณะที่กองทัพอังกฤษระบุว่า พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนอิสรเาอลโดยใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศที่มีอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางในขณะเดียวกัน อิสราเอลใช้ระบบต่างๆ เพื่อป้องกันการโจมตี ตั้งแต่ขีปนาวุธนำวิถีเหนือชั้นบรรยากาศ ไปจนถึงขีปนาวุธและจรวดที่บินต่ำ โดยระบบโดมเหล็ก (Iron Dome) ของอิสราเอลยังคงทำงานอย่างหนักนับตั้งแต่เริ่มโจมตีทางทหารในฉนวนกาซาเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ในอิสราเอล ซึ่งจุดชนวนให้เกิดสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางข้อมูลขององค์กรป้องกันขีปนาวุธ (IMDO) ของอิสราเอล ระบุว่า โดมเหล็กเป็นชั้นล่างสุดของการป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอล โดยในอิสราเอลมีแบตเตอรี่ ไอรอนโดมอย่างน้อย ๑๐ ก้อน แต่ละก้อนติดตั้งเรดาร์ที่ตรวจจับจรวด จากนั้นใช้ระบบสั่งการและควบคุมที่คำนวณอย่างรวดเร็วว่ากระสุนที่พุ่งเข้ามานั้นก่อให้เกิดภัยคุกคามหรือมีแนวโน้มที่จะโจมตีพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่หรือไม่ หากจรวดก่อให้เกิดภัยคุกคาม โดมเหล็กจะยิงขีปนาวุธจากพื้นดินเพื่อทำลายในอากาศนอกจากนี้ กองทัพอิสราเอลยังมีระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยกลาง “เดวิดส์ สลิง” (David’s Sling) หรือชื่อเดิม คทาวิเศษ (Magic Wand) ซึ่งป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธพิสัยสั้นและพิสัยกลาง เป็นโครงการร่วมระหว่างบริษัท Rafael Advanced Defense System ของอิสราเอลและ Raytheon บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านกลาโหมของสหรัฐฯ โดยใช้ขีปนาวุธสกัดแบบจลนศาสตร์ที่ชื่อว่า “สตันเนอร์” (Stunner) และ สกายเซปเตอร์ (SkyCeptor) เพื่อกำจัดเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไป ๔๐-๓๐๐ กิโลเมตรสำหรับการถูกโจมตีในชั้นที่เหนือขึ้นไปจากการรับมือของเดวิดส์ สลิง คือระบบ “แอร์โรว์๒” (Arrow ๒) และ “แอร์โรว์๓” (Arrow ๓) ของอิสราเอลที่พัฒนาร่วมกับสหรัฐอเมริกา โดยแอร์โรว์ ๒ ใช้หัวรบแบบกระจายเพื่อทำลายขีปนาวุธที่เข้ามาในระยะสุดท้าย ขณะที่กำลังพุ่งเข้าหาเป้าหมายในชั้นบรรยากาศชั้นบน ส่วนแอร์โรว๓ ใช้เทคโนโลยีการสกัดกั้นทำลายขีปนาวุธที่ถูกยิงขึ้นไปในอวกาศ ที่นอกชั้นบรรยากาศ ซึ่งขีปนาวุธจะถูกทำลายก่อนที่มันจะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและไปถึงเป้าหมาย นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีเครื่องบินรบที่ล้ำสมัย ซึ่งรวมถึงเครื่องบินไอพ่นล่องหน “F-๓๕I” ที่เคยใช้ยิงโดรนและขีปนาวุธร่อนมาก่อน.