Thursday, 19 December 2024

เริ่มฤดูเปิดไฟในสวนทุเรียนยะลา ล่อผีเสื้อป้องกันหนอนเจาะเมล็ดฯ

ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดยะลา แต่ในปีที่ผ่านมาทุเรียนยะลาถูกตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ทำให้ผู้ส่งออกตีกลับสินค้า ส่งผลให้ทุเรียนในจังหวัดยะลาราคาตกต่ำ เกษตรกรเสียโอกาสในการสร้างรายได้กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับทุเรียนจังหวัดยะลา โดยจัดทำแปลงต้นแบบการใช้แสงไฟไล่และล่อแมลงในสวนทุเรียน ๓๗๗ แปลง ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง ๘ อำเภอของจังหวัดยะลา และปีนี้ได้ขยายผลแปลงต้นแบบเพิ่มในจังหวัดนราธิวาส และปัตตานี “การป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เกษตรกรต้องใช้แสงไฟสีขาวและสีเหลืองส้มไล่แมลงผีเสื้อกลางคืน และใช้ไฟสีม่วงล่อแมลงผีเสื้อกลางคืนไม่ให้วางไข่ที่ผลทุเรียน เนื่องจากผีเสื้อกลางคืนมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดวางไข่และสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทุเรียนแต่ละระยะต่างกัน เช่น หนอนกินดอก หนอนเจาะผล หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน”นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลอีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เมื่อระบาดจะสร้างความเสียหายกับผลผลิตทุเรียนและภาพลักษณ์ของทุเรียนทำให้ทุเรียนยะลาไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและผู้ส่งออก ปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จึงได้จัดกิจกรรม “แสงแรกแห่งฤดูทุเรียนยะลา ปี ๒๕๖๗” ขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา พื้นที่มีการใช้แสงไฟจัดการกับหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ “ทุกปีเราจะมีทุเรียนรู ถูกหนอนเจาะร้อยละ ๑๕-๒๐ ของผลผลิตที่ได้ เกษตรกรจะต้องทิ้ง หรือไม่ก็จำหน่ายในราคาต่ำ จึงพยายามหาวิธีป้องกันปัญหาโดยการฉีดพ่นยาและสารเคมี แต่ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามแผน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เราเองก็ไม่ปลอดภัย ประกอบกับพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นพื้นที่สูงบนภูเขา ต้นทุเรียนอายุมาก ลำต้นสูง จัดการยาก ที่สำคัญสวนทุเรียนตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำของชุมชนไม่สามารถใช้สารเคมีได้แต่เมื่อมาสังเกตต้นทุเรียนที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้าริมถนน มีทุเรียนรูจากหนอนเจาะเมล็ดน้อยมาก จึงคิดว่าแสงไฟน่าจะมีผลต่อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพราะแม่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนคือผีเสื้อกลางคืน ซึ่งจะบินจากพื้นดินขึ้นไปวางไข่ที่ผลทุเรียนตอนกลางคืน เมื่อต้นทุเรียนอยู่ที่สว่าง การวางไข่จึงน้อยกว่าสวนอยู่ในที่มืด”นายอุทัย หงส์เพชร เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนใน อ.บันนังสตา เกษตรกรผู้ริเริ่มการใช้แสงไฟจัดการกับหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เล่าถึงที่มาของการเริ่มทดลองติดหลอดไฟที่ต้นทุเรียนตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และพบว่าปัญหาทุเรียนรูลดลง จึงได้เพิ่มพื้นที่ใช้แสงไปในสวนทุเรียนทั้ง ๑๕ ไร่ สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดไฟ อุทัยแนะนำต้องเปิดเมื่อเริ่มมืดหรือหมดแสงสว่างของกลางวันไปจนถึงเริ่มมีแสงสว่างของวันใหม่ เวลาโดยประมาณคือ ๑๘.๐๐–๐๖.๐๐ น. และต้องเปิดไฟตั้งแต่ช่วงผลเล็ก เปิดไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ถ้าจะป้องกันหนอนเจาะดอกด้วยให้เปิดไฟตั้งแต่ช่วงดอกระยะมะเขือพวงการใช้แสงไฟให้ได้ผลดีต้องคำนึงถึงความทั่วถึงของแสงด้วย เพราะหากมีพื้นที่ที่แสงสว่างไปไม่ถึงและบริเวณที่มีเงาจากทรงพุ่มหรือเงาจากสิ่งอื่นๆบังแสง ผลผลิตก็จะเสียหาย สำหรับหลอดไฟที่เกษตรกรใช้ไล่แมลงผีเสื้อกลางคืนจะใช้หลอดไส้ แสงสีขาวหรือแสงสีเหลืองส้ม ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างกันและเมื่อลองเปรียบเทียบต้นทุนการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ ๑๕ ไร่ โดยวิธีการใช้แสงไฟ อุทัยพบว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ปีละ ๑๒,๐๐๐ บาท แต่หากใช้การฉีดพ่นสารเคมี จะมีค่าใช้จ่ายปีละ ๑๒๕,๐๐๐ บาท. ชาติชาย ศิริพัฒน์คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม