Thursday, 19 December 2024

เงินดิจิทัลไม่ตอบโจทย์แก้เศรษฐกิจ “ชนินทร์” แนะรัฐบาลไม่ต้องรอคำสั่งผู้นำหลังฉาก

“ชนินทร์” จี้รัฐบาล “เศรษฐา” เร่งแก้ไข หลังต่างชาติไม่มาลงทุน มอง ไทยติดกับดักผู้มากบารมี แนะ เร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ต้องรอคำสั่งผู้นำหลังฉาก มอง หากเลื่อนเงินดิจิทัลอีก ควรพิจารณาตัวเองลาออกวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๗ นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และอดีตประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงรายงานผลการสำรวจจัดอันดับประเทศที่เหมาะกับการทำธุรกิจของ EIU (สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง) ซึ่ง EIU ประเมินจากความน่าดึงดูดในการทำธุรกิจของประเทศและเขตแดน ๘๒ แห่งทั่วโลก และพิจารณาจากดัชนีบ่งชี้ในด้านต่างๆ เช่น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายการคลัง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สามารถดึงดูดการทำธุรกิจ และการลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบทางการค้าต่างประเทศและการลงทุน โดยประเทศสิงคโปร์ คว้าอันดับ ๑ ประเทศน่าทำธุรกิจติดต่อกัน ๑๖ ปี แต่ประเทศไทยที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกลับไม่ติดอันดับนายชนินทร์ เผยต่อไปว่า ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองในสายตานักลงทุน ถือเป็นประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนและทำธุรกิจ รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชนในการยกระดับด้านเทคโนโลยี ขณะที่ประเทศไทยยังติดกับดักผู้มากบารมี สิ่งที่น่าเศร้าใจถ้อยแถลงของผู้นำประเทศต่อสาธารณะที่กล่าวว่า ประชาชนสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ด้วยเงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาท ถือเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์การบริหารประเทศที่ฉาบฉวย“อยากจะย้ำให้นายกฯ ไปพิจารณาเรื่องของคำว่าเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งมิได้หมายความถึงแค่เสียงส่วนใหญ่ในสภา แต่หมายความถึงความน่าเชื่อถือและเอกภาพ คือการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ทุกคนมองว่านายกรัฐมนตรีมีตัวจริง แต่มีอำนาจทิพย์ เพราะมีอดีตนายกฯ และอนาคตนายกฯ ประกบข้างการทำงานตลอดเวลา”พร้อมกันนี้ ยังมองด้วยว่าหลังจากนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศมา ๖ เดือนกว่า ก็ยังมีเวลาที่จะแก้ไขปรับปรุงสิ่งต่างๆ ไม่ควรใช้เวลาไปกับการตอบโต้คำพูดทางการเมืองในสภา เหมือนในการประชุมในสภาที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือเรื่องคำพูดสัญญาต่อประชาชนในโครงการเรือธงของรัฐบาล หากมีการเลื่อนออกไปอีกก็ถึงเวลาควรพิจารณาตัวเองตัดสินใจลาออก เพราะก็ครบ ๑ ปีในการทำงานพอดีในช่วงท้าย นายชนินทร์ ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีควรมีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่เป็นรูปธรรม และเป็นนโยบายของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากผู้นำหลังฉาก หันมาสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความปลอดภัย มีนโยบายด้านเทคโนโลยีที่ชัดเจน และสร้างการค้าการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน และทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน.