นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า ขอขอบคุณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืนในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ที่ให้การสนับสนุนทุนตั้งต้นวิจัยและพัฒนาแก่ไทยยูเนี่ยน ทั้งนี้แนวทางในการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นศูนย์ ด้วยการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทางทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ เริ่มตั้งแต่การดูแลให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนนำมาบำบัด ด้วยการแยกเลือดปลาและน้ำนึ่งปลาจนสามารถลดไขมันและเลือดปลาที่ปะปนมาในน้ำทิ้งให้น้อยลงได้ และใช้การกรองโดยระบบ Ultra Filtration (UF) จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดกลับออกมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไปส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO ที่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก และน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอก โครงการนำร่อง Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน ตั้งอยู่ ณ โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จ.สมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๕๕,๐๐๐ ตารางเมตร เริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๖ โดยสามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ ๗ ล้านลิตร ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนใช้น้ำเพียงวันละ ๔ ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ ๒๗.๘ ล้านบาทสำหรับโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange ๒๐๓๐ หนึ่งในพันธกิจหลักคือการมุ่งสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ด้วยการปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ณ โรงงานหลักของไทยยูเนี่ยน ๕ แห่ง ให้สำเร็จ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ๒๕๗๓. คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม
Related posts