Thursday, 19 December 2024

พก. ถก มท. ใช้บัตรปชช.แทนบัตรคนพิการ เชื่อมข้อมูลพร้อมบัตรทอง ตั้งเป้าสิ้นปีเสร็จ

17 Apr 2024
116

นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนพิการที่ขึ้นทะเบียนกับ พก.มีบัตรคนพิการ แล้วจำนวน ๒,๒๘๓,๕๐๒ คน ขณะที่ตัวเลขที่สำนักงานสถิติบันทึกมีจำนวน ๔,๑๙๐,๐๐๐ กว่าคน ตัวเลขที่แท้จริง ไม่แน่ใจจะอ้างอิงจากที่ใด ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สั่งการให้เร่งสำรวจนำขึ้นทะเบียนเพื่อให้กับคนพิการได้รับสิทธิสวัสดิการที่พึงได้ ซึ่งตั้งแต่เดือน กันยายน๒๕๖๖ มีจำนวนผู้พิการที่ขึ้นทะเบียน ๒,๒๔๐,๐๐๐ กว่าราย จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากว่า ๔๐,๐๐๐ ราย ใช้ระยะเวลาช่วง ๔-๕ เดือนในการค้นหาเชิงรุก จากนี้ พก.ยังคงเร่งค้นหาเพิ่มเติม โดยใช้ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เร่งสำรวจร่วมกับท้องถิ่นอธิบดี พก.กล่าวว่า ขณะนี้ พก.มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และท้องถิ่นในการให้บริการจดทะเบียนคนพิการเป็น one stop service โดยรับการตรวจประเมินออกใบบ่งชี้ความพิการพร้อมออกบัตรคนพิการได้ที่ รพ. จากนั้น รพ.จะเชื่อมข้อมูลให้กับท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของคนพิการเพื่อขึ้นทะเบียนและรอรับเบี้ยความพิการของเดือนถัดไปได้โดยไม่จำเป็นต้องไปแจ้งที่ท้องถิ่นอีก ซึ่งได้ดำเนินการใน กทม. แล้ว ต่างจังหวัดกำลังเชื่อมข้อมูลระหว่าง รพ.กับท้องถิ่น เริ่มทดลองที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ตนยังได้หารือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเห็นด้วยในการเชื่อมข้อมูลเพื่อใช้บัตรประชาชนแทนบัตรคนพิการ รวมทั้งหารือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเชื่อมข้อมูลบัตรทองด้วย อยู่ระหว่างดำเนินการตั้งเป้าให้เสร็จภายในปีนี้นายกันตพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ พก.ยังได้ปรับแก้ประกาศกระทรวงถึงเกณฑ์ประเมินความพิการ นอกจากใช้หลักการทางการแพทย์ประเมินแล้ว ปรับเพิ่มให้มีการประเมินทางสังคมด้วย อยู่ระหว่างส่งร่างประกาศที่ปรับแก้ให้ รัฐมนตรีว่าการพม.ลงนาม เนื่องจากบางครั้งการใช้หลักทางการแพทย์ประเมินความพิการอย่างเดียวไม่เพียงพอ เช่น ตาบอดข้างเดียว ถ้ายึดหลักการแพทย์ถือว่ายังทำกิจวัตรประจำวันได้ ถ้าหากเราใช้หลักทางสังคมอาจจะเข้าข่ายพิการทางกายได้หรือไม่ เพราะบางคนอาจจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อนำเป็นประเด็นหารือผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยแต่ละเรื่อง ที่ผ่านมาคนตาบอดเพียงข้างเดียวยังไม่ถือว่าเป็นผู้พิการที่จะได้รับสิทธิในเบี้ยความพิการ ทั้งนี้ เพื่อเอื้อให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่