Sunday, 19 January 2025

จิ้งจกขอ “ทัก” อีกครั้ง “เงินแจก” ดิจิทัลวอลเล็ต

ผมแสดงจุดยืนมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาท ของพรรคเพื่อไทย และได้เขียนแสดงเหตุผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมผ่านคอลัมน์นี้ไปหลายครั้งเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ผมเห็นด้วยกับจดหมายเปิดผนึกของนักเศรษฐศาสตร์ ๙๙ คน ร้อยเปอร์เซ็นต์ และยังมีเหตุผลส่วนตัวจากประสบการณ์ของผมอีกหลายๆข้อที่สำคัญผมไม่เชื่ออย่างยิ่งว่า เงิน ๕ แสนล้านบาท จะหมุนได้ “เหมือนพายุ” หลายๆรอบ จนทำให้จีดีพีของปี ๒๕๖๗ เพิ่มขึ้นได้อีก ๒-๓ เปอร์เซ็นต์ จนกลายเป็น ๕-๗ เปอร์เซ็นต์ ดังที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งคาดการณ์ไว้เมื่อเร็วๆนี้สมมติว่ามันหมุนได้จริงและออกมาที่ ๕-๗ เปอร์เซ็นต์จริงๆ คำถามคือปีหน้าปีโน้นมันจะหมุนต่ออีกไหม? เงิน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่ว่านี้ยังมีอิทธิฤทธิ์อยู่อีกไหมถ้าเกิดหมดอิทธิฤทธิ์ไม่มีเงินอะไรมากระตุ้นอีก เป็นผลให้จีดีพีปีต่อไปเริ่มแก่ ๓-๔ เปอร์เซ็นต์ ตามอัตราที่ควรจะเป็นคนจะหาว่าปีที่ว่านั้นจีดีพีหดตัวหรือไม่ครับ? เพราะเคยได้ถึง ๕-๗ เปอร์เซ็นต์ แต่กลับลดเหลือแค่ ๓-๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในสูตรคิด จีดีพี นั้น เขาบอกว่ามีตัวการสำคัญอยู่ ๔ ตัว หรือเครื่องยนต์ ๔ เครื่อง ได้แก่ การบริโภค, การลงทุนเอกชน, การใช้จ่ายภาครัฐบาล และ การส่งออกหักลบด้วยการนำเข้า ที่จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นหรือหดลงใน ๔ เครื่องนี้ ถ้าดูให้ลึกจะเห็นว่าการ “บริโภค” หรือที่ในสูตรมักใช้อักษร C ที่มาจาก Consumption นั่นเอง จะเป็นเครื่องยนต์ที่น่าห่วงที่สุดเพราะจะต้องดูด้วยว่าการบริโภคนั้น ประชาชนใช้เงินจากไหน ถ้าใช้จากรายได้ของตนเองก็พอทำเนา เพราะไม่ได้กู้ไม่ได้ยืมมาบริโภคก็จะไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร…หนี้ครัวเรือนก็จะไม่เพิ่มแต่ถ้าไปกู้เขามาใช้หรือยังไม่มีแต่ขอผ่อนส่งด้วยการสร้างหนี้แบบนี้ ก็ถือว่าเป็นการบริโภคที่อันตราย เพราะหากลงท้ายผู้คนเป็นหนี้สูงแล้ว รัฐบาลก็จะปวดหัวอย่างที่สภาพัฒน์และแบงก์ชาติเตือนอยู่เสมอๆ เรื่องหนี้ครัวเรือนในขณะนี้เอาละถึงประชาชนจะใช้เงินของตนเองไม่ยืมใครไม่เป็นหนี้ใคร…แต่การได้แล้วจ่ายหมดโดยไม่มีเงินออมก็เสียอีก เพราะทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บางทฤษฎีเขาก็บอกว่า “เงินออม” คือ “เงินลงทุน” ถ้าประชาชนบริโภคหมดไม่ออมเลย อีกหน่อยก็จะไม่มีเงินลงทุนด้วยเหตุนี้การเล่นกับตัว C หรือตัว “บริโภค” นักเศรษฐศาสตร์จึงสอนกันนักหนาว่าให้ระวังหน่อย…อาจเป็นผลดีในแง่กระตุ้นรายได้รวมได้เร็ว แต่ก็ต้องระวังผลเสียในด้านอื่นๆที่จะตามมาเขาจึงใช้กันอย่างระมัดระวัง ใช้ด้วยความจำเป็นในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเพื่อเอาตัวรอดเป็นครั้งคราวเป็นส่วนมากการที่รัฐบาลนี้โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะใช้ตัวบริโภคมาแก้ปัญหาการเพิ่มจีดีพี ซึ่งเพิ่มช้าและเพิ่มต่ำจนแพ้เพื่อนบ้านนั้น จึงเป็นคำถามว่าถูกต้องหรือไม่?นักวิเคราะห์ไม่น้อยมองว่าที่ GDP เราเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำ เพราะเรามีปัญหาโครงสร้างหลายๆอย่าง…เช่น มีแรงงานสูงอายุมากไปบ้าง…ระบบการผลิตล้าสมัยบ้าง…ความสามารถในการแข่งขันถดถอยลงบ้างถ้าปัญหาเป็นเช่นนี้จริง แต่เรามาแก้ด้วยการกระตุ้นการบริโภคมันก็จะกลายเป็นการแก้ชั่วคราว มิได้แก้ปัญหาโครงสร้าง แต่อย่างใด…ปีหน้าปีโน้นหมดแรงกระตุ้นอัตราการเพิ่มก็จะต้องต่ำลงอยู่ดีผมก็ฝากเป็นข้อคิดไว้เหมือนจิ้งจกทักอีกครั้ง และต่อไปก็คงจะทักน้อยลง เพราะพอท่านนายกฯกับท่านรัฐมนตรีช่วยคลังแถลงออกมาครั้งหลังนี้ มีจิ้งจกใหม่ๆทักเพิ่มอีกเยอะเลย ทักแรงกว่าผมด้วยซ้ำก็ขออนุญาตทำหน้าที่เหมือนนักเศรษฐศาสตร์ ๙๙ ท่านแรกก็แล้วกันนะครับ ท่านออกมาทักแล้วก็เงียบไปเลยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสังคมไทยและคนไทยที่มีสติสัมปชัญญะมาช่วยกันทักต่อไปผมก็จะทำตัวแบบท่านนั่นแหละครับ เพราะดูเหมือนว่าสังคมไทยจะตื่นขึ้นพอสมควรแล้ว…เสียงร้องทักมากขึ้นกว่าเดิมและดังกว่าเดิมหลายเท่าแล้วครับตอนนี้.“ซูม”คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม