“อนุทิน” นำแถลงสรุปปิดท้าย ๗ วันอันตรายสงกรานต์ ๒๕๖๗ มีผู้เสียชีวิตรวม ๒๘๗ ศพ โดยเชียงราย ดับมากสุด ๑๗ ศพ เกิดอุบัติเหตุ ๒,๐๔๔ ครั้ง ขับรถเร็วยังเป็นสาเหตุหลักอันดับ ๑ ขณะที่ยอดตายเป็นศูนย์มี ๗ จังหวัด กำชับถอดบทเรียนลดอุบัติเหตุตลอดทั้งปีวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๗ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” (๗ วันอันตราย) อุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๗ เกิดอุบัติเหตุ ๒๒๔ ครั้งผู้บาดเจ็บ ๒๒๔ คนผู้เสียชีวิต ๒๘ ศพ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดขับรถเร็ว ร้อยละ ๔๕.๙๘ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ ๑๘.๗๕ดื่มแล้วขับ ร้อยละ ๑๒.๕๐ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๑.๘๒ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ ๘๒.๑๔ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๔๒.๔๑ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๒๙.๔๖ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา ๑๗.๐๑-๑๘.๐๐ น. ร้อยละ ๘.๐๔ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ ๓๐-๓๙ ปี ร้อยละ ๑๗.๐๖ จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๑,๗๖๒ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๕๑,๓๗๑ คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ (จังหวัดละ ๑๑ ครั้ง)จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (๑๒ คน)จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (๓ ศพ) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๗ วันของการรณรงค์ (๑๑ -๑๗ เมษายน ๒๕๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๐๔๔ ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม ๒,๐๖๐ คน ผู้เสียชีวิต รวม ๒๘๗ ศพจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๗ จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (๘๒ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (๘๐ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (๑๗ ศพ) นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๗ มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่จำนวนของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย สาเหตุหลักยังคงเกิดจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้ประสานจังหวัดบูรณาการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมอบหมายให้ ศปถ.จังหวัด บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนดำเนินการรวบรวมและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะได้นำมากำหนดเป็นแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศในระยะยาวต่อไป“แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๗ แล้ว ศปถ. จะได้ประสานจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เขต (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำ ตักเตือน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก อาทิ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด และการไม่สวมหมวกนิรภัย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย”ทางด้าน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี กล่าวเสริมว่า ศปถ. ได้ประสานจังหวัดตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก พร้อมถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบททางสังคม เพื่อเสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบและเข้มแข็ง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนในการทำงานมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ ๑๒ คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๐ขณะที่ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า หลังจากนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุตลอดทั้งปี โดย ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๗ ด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน และเข้มแข็ง.
สรุป ๗ วันอันตรายสงกรานต์ ๖๗ เสียชีวิต ๒๘๗ ศพ อุบัติเหตุ ๒,๐๔๔ ครั้ง
Related posts