Sunday, 19 January 2025

“พัชรวาท” ห่วงทะเลเดือด มอบ “กรมทะเล” รับมือปัญหา “ปะการังฟอกขาว”

19 Apr 2024
104

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทส. ห่วงปัญหาทะเลเดือด มอบ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เดินหน้ารับมือปัญหาปะการังฟอกขาว สืบเนื่อง จากความแปรปรวนของสภาพอากาศโลก  วันที่ ๑๙ เม.ย. ๒๕๖๗ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยเมื่อวานที่ผ่านมา (๑๘ เม.ย.) ว่า ปัจจุบันโลกของเราได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั่วโลก ต่างต้องเผชิญหน้ากับการแปรปรวนของสภาพอากาศแบบสุดขั้วที่เรียกว่า “ภาวะโลกเดือด” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล คือสิ่งที่ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญกับผลกระทบหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ และการเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ นับว่าเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤติทะเลเดือด จากปัญหาที่เกิดขึ้น ตนในฐานะผู้นำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งหาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ได้ประกาศไว้ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ อันเป็นทรัพยากรสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกเดือดให้กับประชาชนนับเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรมีการจัดเวทีประชุมให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติโลกเดือด การปล่อยของเสีย และการทิ้งขยะลงในทะเล รวมถึงดึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายอนุรักษ์ เข้ามามีบทบาทในการปกป้อง ดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเรื่องใกล้ตัวให้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและรูปแบบการใช้ชีวิตชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำไปสู่การเปลี่ยนโลกเพื่อ “ลดโลกเดือด” ต่อไป ด้าน นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ได้ติดตามสถานการณ์โลกเดือดอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมในการรับมือและดำเนินการวางแผนเฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม โดยในปีนี้ได้คาดการณ์ว่าจะเกิด ปะการังฟอกขาวเป็นวิกฤติโลก ส่งผลกระทบด้านการเจริญเติบโตของปะการัง ซึ่งปกติกว่าปะการังจะกลับคืนมาสภาพเดิมได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ ๕-๑๐ ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ภายใน ๑๐ ปี ได้เกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวรายใหญ่ ๒ ครั้ง ทำให้ปะการังเติบโตไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล จากรายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA เผยถึงภาวะ “ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่” รอบที่ ๔ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และส่งผลต่อแนวปะการังทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ปะการัง รวมถึงกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว โดยมีระบบติดตาม เฝ้าระวัง การตรวจวัดอุณหภูมิใต้ทะเล หากพบน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ กรมฯ จะดำเนินการตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่กำหนด โดยการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปะการัง รวมถึงลดภัยคุกคามต่างๆ ที่ทำให้ปะการังเครียด เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล กิจกรรมดำน้ำดูปะการัง และการปล่อยน้ำเสียลงในทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ กรมฯ ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายชุมชนชายฝั่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อพบจุดปะการังฟอกขาวที่รุนแรง หรือมีแนวโน้มที่กำลังจะตาย ให้รีบแจ้งเบาะแสไปยังสำนักงานภายในพื้นที่สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้ง ๒๔ จังหวัดชายฝั่งทะเล หรือโทรไปที่เบอร์ ๑๓๖๒ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อที่กรมฯ จะดำเนินการประเมินและพิจารณาในการตัดสินใจย้ายปะการังไปไว้ในที่ปลอดภัยบริเวณพื้นที่ทะเลที่มีอุณหภูมิเย็น เพื่อปะการังจะฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าภาวะโลกเดือดยังสร้างความเสียหายต่อหญ้าทะเล ทำให้หญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมและตายในที่สุด โดยปกติหญ้าทะเลที่ตายใบจะร่วงแล้วงอกขึ้นมาใหม่ แต่ในปีนี้นับเป็นปีแรกที่สถานการณ์โลกเดือดทำให้เหง้าของหญ้าทะเลเกิดการเน่าเปื่อย เนื่องจากดินมีความร้อนสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น จึงส่งผลทำให้หญ้าทะเลเกิดการอืดแห้งนาน แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร ทำให้หญ้าทะเลอืดแห้งนานกว่าปกติมากกว่าหนึ่งชั่วโมง ทั้งนี้ กรมฯ ได้ส่งทีมนักวิชาการ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน และสถาบันการศึกษา ดำเนินการค้นคว้าและวิจัยหาสาเหตุการตายของหญ้าทะเล ปรากฏว่าภาวะโลกเดือดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง และหญ้าทะเลที่หายไปยังส่งผลกระทบต่อพะยูน และเต่าทะเล เพราะหญ้าทะเลคืออาหารของพวกมัน อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการในการแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพแหล่งหญ้าทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด นั่นก็คือ การขาดความสมดุลเพศของเต่าทะเล เนื่องจากอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศของเต่าทะเล ในอดีตสามารถรักษาสมดุลให้มีเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่ง ปรากฏว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกเดือดทำให้เต่าเพศเมียเยอะขึ้นเพศผู้ก็ลดลง ในส่วนปัญหาที่พบเจอเพศผู้ลดน้อยลงไม่มีการผสมพันธุ์ ทำให้เกิดเป็นไข่ลมและเน่าเสียได้ สุดท้ายนี้ ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกเดือดที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเกิดความวุ่นวายกลายเป็นทะเลเดือด สร้างความเสียหายแก่พี่น้องชุมชนชายฝั่ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังคงต้องจับตามองและให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันเกิดขึ้นจริง ถ้าหากเราไม่ช่วยกัน เราก็อาจจะไม่มีทรัพยากรทางทะเลที่สวยงามหลงเหลือให้ลูกหลานได้เห็น ฉะนั้น ความร่วมมือคือสิ่งสำคัญ มาร่วมกันปกป้องทรัพยากรทางทะเลไม่ให้เสียสมดุลจากภาวะโลกเดือด เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยกันกอบกู้โลกใบนี้ให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง “ด็อกเตอร์ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”