วันนี้เราไปดูการเลือกตั้งในอินเดีย หรือ ชมพูทวีป ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกันนะครับ ข้อมูล ณ ๑๖ เมษายน ตาม Worldometer อินเดียมีประชากร ๑,๔๓๘.๙๘ ล้านคน วันนี้คงเกิน ๑,๔๔๐ ล้านคนไปแล้ว มีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกว่า ๙๗๐ ล้านคน การเลือกตั้งจะเริ่มตั้งแต่ ๑๙ เมษายน ไปจนถึง ๑ มิถุนายน ใช้เวลาเลือกตั้งหนึ่งเดือนเศษ เพราะเป็นประเทศใหญ่มี ๒๙ รัฐ การเลือกตั้งแบ่งออกเป็น ๗ ช่วง คือ ๑๙ เมษายน, ๒๖ เมษายน, ๗ พฤษภาคม, ๑๓ พฤษภาคม, ๒๐ พฤษภาคม, ๒๕ พฤษภาคม และ ๑ มิถุนายน และ การนับคะแนนจะมีขึ้นในวันที่ ๔ มิถุนายน ใช้เวลานับประมาณ ๔ ชั่วโมงก็รู้ผล เพราะนับคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เร็วกว่าประเทศประชาธิปไตยอนุรักษนิยมเยอะการเลือกตั้งของอินเดีย ใช้วิธีลงคะแนนด้วย “เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์” (Electronic Voting Machines : EVM) แทนบัตรเลือกตั้งที่ทุจริตได้ง่าย เครื่องลงคะแนนจะเป็นระบบปิด ไม่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วค่อยส่งต่อไปยังส่วนกลาง เพื่อเก็บไว้นับคะแนนวันที่ ๔ มิถุนายนพร้อมกันทั่วประเทศแม้การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียจะเริ่มวันนี้เป็นวันแรก แต่เกจิการเมืองในอินเดียและทั่วโลกต่างฟันธงล่วงหน้าว่า นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี และ พรรคภารติยะชนตะ หรือ พรรค BJP ของเขาจะชนะการเลือกตั้งสมัยที่ ๓ อย่างแน่นอน หลังจากที่ นายกรัฐมนตรีโมดี ชนะการเลือกตั้งมาแล้ว ๒ สมัย เป็นนายกรัฐมนตรีมา ๑๐ ปีแล้ว การหาเสียงส่งท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายกฯโมดี ได้ประกาศนโยบายหาเสียงในครั้งนี้ของเขาว่า “การรับประกันของโมดี” หรือ Modi’s Guarantee โดยเน้นการสร้างงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การบิน รถไฟ ยานพาหนะ ไฟฟ้า พลังงานสีเขียว เซมิคอนดักเตอร์ เภสัชกรรม ฯลฯ เนื่องจากอินเดียยังมีปัญหาคนว่างงาน เงินเฟ้อ ความทุกข์ยากของคนในชนบทโมดี กล่าวว่า อินเดียต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพื่อสานต่อนโยบายเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกเศรษฐกิจอินเดียในยุค นายกฯโมดี เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาตลอด จีดีพีปี ๒๕๖๖ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ๗.๒% (ประชากรมากกว่าไทย ๒๒ เท่า จีดีพีสูงกว่าไทย ๓.๗๘ เท่า) คาดว่าปีนี้ ๒๕๖๗ จีดีพีอินเดียจะขยายตัวอีก ๗.๖% จึงไม่แปลกที่เกจิการเมืองเกจิเศรษฐกิจจะฟันธงล่วงหน้าว่า นายกฯโมดีจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยอินเดีย กำลังเป็น ประเทศทางเลือกที่สำคัญ ของ สหรัฐฯ ในการกระจาย supply chain ด้านอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่บริษัทสหรัฐฯในจีนทยอยถอนการลงทุนในจีนตามนโยบายต่อต้านจีนของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ไอโฟน ก็ไปสร้างโรงงานในอินเดียแทนการขยายกำลังการผลิตในจีน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไอโฟนที่ผลิตในอินเดียในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ จะมีมูลค่าสูงถึง ๑๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว ๕๑๐,๐๐๐ ล้านบาท เท่ากับ ๑ ใน ๗ ของจำนวนการผลิตของไอโฟนทั้งหมดคุณศิริอาภา คำจันทร์ ศูนย์ AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ เขียนไว้ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเมษายนว่า อินเดียกำลังก้าวไปสู่ “ศูนย์กลางการผลิตชิป” ตามอย่าง สหรัฐฯ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ล่าสุดรัฐบาลอินเดียอนุมัติการสร้างโรงงานผลิตชิปมูลค่า ๑๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ราว ๕๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ทำให้อินเดียมีโรงงานผลิตชิปรวม ๔ แห่งบริษัท MacKinsey คาดการณ์ว่า รายได้อุตสาหกรรมชิปของอินเดียจะแตะระดับ ๑ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว ๓๖.๖ ล้านล้านบาทในปี ๒๕๗๓ อีก ๖ ปีข้างหน้า ๗๐% ของชิปจะอยู่ใน ๓ อุตสาหกรรมหลักคือ รถยนต์ การคำนวณและจัดเก็บข้อมูล และอุปกรณ์ไร้สายขณะที่ ประเทศไทย กำลังส่งเสริมให้เป็น “โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน” ที่มาในรูปแบบ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” รัฐบาลไทยใจดี ไม่เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีน และ เอาเงินภาษีคนไทยไปอุดหนุนคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจีนอีกคันละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ไม่รู้คิดได้ยังไง.“ลม เปลี่ยนทิศ”คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม