Thursday, 19 December 2024

ชนชั้นอภิมนุษย์

ท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้องเรื่องสมรสเท่าเทียม ยุคศตวรรษที่ ๒๑ อาจเป็นยุคที่สร้างสังคมไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพราะแม้ว่าโลกาภิวัตน์และอินเตอร์เน็ตจะเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภัยคุกคามที่ขยายรอยแตกร้าวระหว่างชนชั้นต่างๆให้ถ่างกว้างขึ้นนักประวัติศาสตร์ชาวยิวชื่อก้องโลก “ยูวัล โนอาห์ แฮรารี” เจ้าของผลงาน “Sapians : A Brief History of Humankind” พาสำรวจโลกยุคปัจจุบัน และถอดรหัสเป็น “๒๑ บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑” ที่มนุษย์ยุคนี้ไม่ควรพลาด เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายในอนาคตหนึ่งในบทเรียนที่สะดุดใจคือ เรื่องของ “ความเท่าเทียม” เขาเชื่อว่าความเท่าเทียมไม่มีอยู่จริงมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ย้อนกลับไปสู่ยุคหิน เมื่อ ๓๐,๐๐๐ ปีก่อน กลุ่มคนหาของป่าล่าสัตว์ฝังสมาชิกระดับสูงในหลุมศพหรูหรา ที่เต็มไปด้วยลูกปัดงาช้าง, อัญมณี และศิลปวัตถุ ส่วนสมาชิกที่เหลือนอนตายในหลุมเปล่าๆใต้พื้นดิน ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติเกษตรกรรม มนุษย์เริ่มยึดถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน, สัตว์, พืช และอุปกรณ์ข้าวของต่างๆ สังคมที่มีชนชั้นแบบตายตัวจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีชนชั้นสูงจำนวนน้อยที่ผูกขาดความมั่งคั่งและอำนาจส่วนมากไว้รุ่นแล้วรุ่นเล่า มนุษย์ยึดถือว่าการจัดชนชั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นอุดมคติของสังคม สังคมจะขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากไม่มีลำดับชั้นที่ชัดเจนระหว่างชนชั้นสูงกับคนทั่วไปอย่างไรก็ดี เมื่อโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ “พลังของมวลชน” มีความสำคัญขึ้นกว่าเดิม เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมและกองทัพจำเป็นต้องพึ่งมวลชนที่เป็นคนทำงานจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ในยุคนั้น “ความเท่าเทียม” จึงกลายเป็นอุดมคติในสังคมมนุษย์แทบทุกสังคม ไม่ว่าในระบอบประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ต่างก็ทุ่มลงทุนให้กับเรื่องสุขภาพ, การศึกษา และสวัสดิการของมวลชน เพราะพวกเขาต้องอาศัยคนงานและกำลังพลที่มีสุขภาพดีนับล้านๆคนทำงานในสายการผลิต ผลที่ตามมาก็คือประวัติศาสตร์ของยุคศตวรรษที่ ๒๐ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปมาเป็นส่วนใหญ่ระหว่างการลดลงของความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น, ชาติพันธุ์ และเพศสภาพ จนเหล่ามวลชนเผลอคิดว่าได้รับชัยชนะในช่วงแรกๆที่โลกก้าวสู่ยุคศตวรรษที่ ๒๑ ผู้คนคาดหวังว่ากระบวนการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมในทุกด้านจะรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้คนฝันหวานว่าโลกาภิวัตน์จะทำให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนในอินเดียได้รับโอกาสและสิทธิพิเศษแบบเดียวกับคนในแคนาดาแต่แล้วความหวังของคนยุคศตวรรษที่ ๒๑ ก็พังครืนลง เพราะแม้ว่าการเปิดโลกไร้พรมแดนจะส่งผลดีต่อมนุษยชาติกลุ่มใหญ่ แต่กลับมีสัญญาณการขยายตัวขึ้นของความไม่เท่าเทียมระหว่างสังคมและภายในสังคมต่างๆเอง คนบางกลุ่มเพิ่มการผูกขาดผลพวงของโลกาภิวัตน์ ขณะที่คนอีกนับพันๆล้านคนถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ที่น่าตกใจคือกลุ่มคนรวยที่สุด ๑% ของโลก ผูกขาดความเป็นเจ้าของความมั่งคั่งครึ่งหนึ่งของโลก และคนรวยที่สุด ๑๐๐ คน เป็นเจ้าของสินทรัพย์มากกว่าคนจนที่สุด ๔ พันล้านคนรวมกันปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมจะยิ่งเลวร้ายหนักลงกว่าเก่า เมื่อการผงาดขึ้นของ “AI เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” จะทำให้คุณค่าทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองของมวลชนส่วนใหญ่หมดสิ้นไป มีแนวโน้มบ่งชี้ว่าความก้าวหน้าของ “เทคโนโลยีชีวภาพ” อาจแปลง “ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ” ให้กลายเป็น “ความไม่เท่าเทียมกันทางชีวภาพ” ในที่สุดคนรวยล้นฟ้าก็จะสามารถใช้ความมั่งคั่งซื้อชีวิตตัวเองได้ ด้วยการรักษาแบบใหม่ เพื่อช่วยยืดอายุ พร้อมอัปเกรดความสามารถทางกายภาพและสติปัญญา ชนิดที่ว่ามนุษย์เดินดินอย่างพวกเราไม่มีทางตามทันคาดว่าภายในปี ๒๑๐๐ คนรวยที่สุด ๑% ของโลก ไม่เพียงแต่จะเป็นเจ้าของความมั่งคั่งของโลกเกือบทั้งหมด แต่ยังอาจครอบครองความงาม, ความคิดสร้างสรรค์ และสุขภาพที่ดีส่วนใหญ่ในโลกไว้เช่นกัน เพราะการมีเงินที่มากกว่าช่วยให้พวกเขาซื้อร่างกายและสมองที่เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปได้การจับคู่ของ “ชีววิศวกรรมล้ำยุค” เข้ากับ “เอไอ” จะส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกมนุษยชาติครั้งใหญ่ออกเป็น “อภิมนุษย์” (superhuman) กับ “กลุ่มโฮโมเซเปียนส์” ซึ่งเป็นมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ถูกทอดทิ้งให้เป็นชนชั้นที่ด้อยกว่าและไร้ประโยชน์ เมื่อมวลชนส่วนใหญ่สูญเสียความสำคัญทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง รัฐชาติต่างๆก็ขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนด้านสุขภาพ, การศึกษา และสวัสดิการสังคมเพื่อประชาชน พูดไม่ผิดก็คืออนาคตของมวลชนอย่างพวกเรา ขึ้นอยู่กับความเมตตาของชนชั้นอภิมนุษย์ ซึ่งอาจมีไมตรีจิตไปอีก ๒-๓ ทศวรรษ อย่าให้เกิดวิกฤติใหญ่ๆก็แล้วกัน ไม่ต้องสืบก็รู้ว่าใครจะถูกเตะทิ้งลงจากเรือ.มิสแซฟไฟร์คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม