Saturday, 18 January 2025

ไอลอว์ แฉ “สว.สมชาย” เล่มจบป.เอก ลอกงานคนอื่นหลายจุด-เจ้าตัวยังไม่เคลื่อนไหว

เฟซบุ๊ก iLaw เปิดเนื้อหาดุษฎีนิพนธ์ “สว.สมชาย แสวงการ” พบมีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายที่ แบบก๊อบปี้เพสท์ ไม่มีการรีไรต์ใหม่ แม้แต่งานของ iLaw เอง ก็ยังโดน ขณะที่เจ้าตัวยังไร้การเคลื่อนไหวเพื่อชี้แจงในประเด็นที่เกิดขึ้นวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๗ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก iLaw โพสต์ข้อความ “ส่องเล่มจบ ป.เอก สว.สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด” ว่า เส้นทางการเรียนปริญญาเอกของ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากมีการพบว่าดุษฎีนิพนธ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอันขาดไม่ได้ในการเป็นด็อกเตอร์นั้นมีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษรโดยเฟซบุ๊ก iLaw ระบุว่า นายสมชายสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี ๒๕๖๕ จากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ปัจจุบันศาสตราจารย์อุดม เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมติเห็นชอบโดยวุฒิสภาที่มีนายสมชายเป็นสมาชิก เมื่อตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย พบว่ามีข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่นๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของนายสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า ๓๐ หน้านอกจากพบการคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทางแล้ว ยังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของนายสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเองเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงานยกตัวอย่างเช่น ในหน้า ๖๕ ของดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาประเทศอังกฤษ” ๕ บรรทัดแรกของเนื้อหาเหมือนกับเนื้อหาส่วนแรกของงาน “สภาขุนนางอังกฤษ” ที่เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๘ ในวารสารจุลนิติของ สว. อีกทั้งยังพบว่ามีการคัดลอกเนื้อหาในหน้า ๗๒-๗๓ จากหน้าที่ ๑๑๗-๑๑๙ ในวิทยานิพนธ์ของวัชรพล โรจนวงรัตน์ “รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในปี ๒๕๖๐ โดยมีการใส่เชิงอรรถไว้ด้านล่าง แต่ก็มีเนื้อหาเหมือนกันคำต่อคำนอกจากนี้ ดุษฎีนิพนธ์ของนายสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw ด้วย โดยเป็นบทความ “รวมข้อมูล ๒๕๐ สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประกอบด้วยบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. ที่บทความยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สว. ยังไม่มีการเคลื่อนไหวในโลกโซเซี่ยล และยังไม่มีการออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด