Sunday, 19 January 2025

วิกฤติในตะวันออกกลาง ผ่านมุมมองทูตอิสราเอล

“ค่ำคืนวันที่ ๑๓ เม.ย. นับเป็นห้วงเวลาที่ตึงเครียดสำหรับชาวอิสราเอลทุกคน รวมถึงดิฉันที่พลาดโอกาสในการดื่มด่ำบรรยากาศรื่นเริงของเทศกาล “สงกรานต์” ในประเทศไทยอย่างเต็มที่ หลังได้รับแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือว่า กองทัพอิหร่านได้เปิดฉากปฏิบัติการโจมตีต่อประเทศอิสราเอลโดยตรง”“ออร์นา ซากิฟ” เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้เปิดใจอีกครั้งกับทีมข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ดูเหมือนกำลังถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีกขั้น หลังจากช่วงคืนวันที่ ๑๓ เม.ย. และช่วงเช้าตรู่วันที่ ๑๔ เม.ย. กองทัพอิหร่านและกองกำลังติดอาวุธต่างๆในดินแดนรอบๆอิสราเอล ตัดสินใจรุมถล่มอิสราเอลอย่างพร้อมเพรียงกันด้วยขีปนาวุธ จรวดร่อน และโดรนพิฆาตกว่า ๓๐๐ ลำโดยเรื่องนี้เราขอชี้แจงก่อนว่า อิสราเอลไม่มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “ครั้งแรก” ที่กองทัพอิหร่านทำการโจมตีต่อประเทศอิสราเอลโดยตรง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านให้การสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในประเทศต่างๆอย่างเลบานอน ซีเรีย อิรักมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเงินทุน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างกองกำลังติดอาวุธ “ฮิซบอลเลาะห์” ในเลบานอนที่ยังคงยิงจรวดถล่มอิสราเอลอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้รับสปอนเซอร์คิดเป็นเงินกว่า ๗๐๐-๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า ๒๕,๒๐๐-๓๖,๐๐๐ ล้านบาท) ต่อปีเลยไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก ที่จะบอกว่าอิหร่านเล่นงานเราครั้งแรก ทราบดีว่าคนอื่นมองว่านี่คือการเปิดหน้าชน แต่สำหรับชาวอิสราเอลมีมุมมองเช่นนี้มานานแล้ว ส่วนอีกเรื่องที่อยากจะขอแย้งคือ วันก่อนไปเห็นในออนไลน์ มีการตั้งข้อสังเกตกันว่างานนี้อิหร่านดำเนินการโจมตีแบบ “ยั้งมือ” ใส่อิสราเอล สิ่งนี้ไม่ใช่เลย เพราะคืนนั้นถือเป็นการโจมตีอย่างจริงจัง คำนวณเวลาการโจมตีมาอย่างดิบดี ให้ระบบป้องกัน ของอิสราเอลอยู่ในสภาพตึงมือ ต้องสกัดกั้นทั้งโดรนพิฆาตที่กินเวลาเกือบ ๖ ชั่วโมงกว่าจะมาถึงอิสราเอล ไปจนถึงขีปนาวุธที่ใช้เวลาเดินทางมายังอิสราเอลเพียง ๑๐-๑๒ นาที และทำให้มีอาวุธบางส่วนเล็ดลอดแนวป้องกันไปได้อย่างไรก็ตาม หากย้อนเวลากลับไปก็ต้องมองว่า รัฐบาลอิสราเอลคิดถูกแล้วที่ตัดสินใจลงทุนในระบบป้องกันภัยทางอากาศแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งผลลัพธ์ในครั้งนั้นทำให้อิสราเอลมีระบบต่อต้านแบบหลายชั้น ทั้งแอร์โรว ๒ แอร์โรว ๓ ไปจนถึงระบบไอเอิร์นโดม จนสามารถรับมือกับการโจมตีครั้งนี้ในระดับ ๙๙% และแน่นอนว่า ต้องขอขอบคุณกองทัพอากาศจากชาติพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ ที่ออกปฏิบัติการช่วยปกป้องน่านฟ้าอิสราเอล จนแทบจะไม่เกิดความเสียหายใดๆบนภาคพื้นดินต้องขอกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯคือพันธมิตรที่ยอดเยี่ยมที่สุด เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แน่นอนว่าถึงเราจะไม่เห็นตรงกัน ๑๐๐% แต่เราก็รับรู้ดีว่านายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลเสมอ อิสราเอลขอบคุณที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตร G๗ มีมาตรการเตรียมคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมถามว่าอิหร่านถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรมานานหลายทศวรรษแล้ว การคว่ำบาตรเพิ่มเติมจะได้ผลอะไร? เรื่องการคว่ำบาตรมันก็มีหลายระดับ และสามารถเจาะจงได้ อย่างเช่น การคว่ำบาตร เพื่อขัดขวางการพัฒนาระบบขีปนาวุธ หรือการพัฒนาระบบโดรนพิฆาตของกองทัพอิหร่าน ไปจนถึงการคว่ำบาตรโดยตรงแก่แกนนำของรัฐบาลอิหร่าน หรือเจาะจงเพิ่มเติมไปยังกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) ที่ปฏิบัติการหลังฉากเพื่อทำลายล้างการดำรงอยู่ของชาวอิสราเอล ตามที่มีรายงานข่าวว่ากองทัพอากาศอิสราเอล ปฏิบัติการโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรีย และประสบความสำเร็จในการสังหารพลจัตวาโมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี สังกัด กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) เป็นชนวนให้กองทัพอิหร่านโจมตีตอบโต้ครั้งนี้? ทูตซากิฟชี้แจงว่า ไม่ทราบเลย ในเรื่องรายละเอียดของฝ่ายปฏิบัติการ รับรู้ว่า เป็นอาคารข้างสถานทูต แต่หากให้ลองคิดเองก็มองได้ว่า คนที่รับผิดชอบเห็นว่าจำเป็น เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายต่อหลายครั้งที่พลาดโอกาสไป โดยที่ไม่รู้ว่าโอกาสจะกลับมาอีกเมื่อไร แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นในเรื่องนี้ ไม่มีที่ไหนจะปลอดภัยสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายต่อประเทศอิสราเอลรัฐบาลอิหร่านคือองค์กรก่อการร้ายเลยไหม? รัฐบาลอิสราเอลมองว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) ควรจะถูกประชาคมโลกตีตราว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และควรปฏิบัติเยี่ยงกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีจุดยืนประกาศกร้าวชัดเจนว่า ต้องการทำลายและกำจัดประเทศอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีอธิปไตยเป็นของตัวเอง หากจะเปรียบเทียบก็ต้องเรียกว่า “กลุ่มก่อการร้ายตัวฉกาจ” (Arch-Terrorist) และด้วยเหตุนี้อิสราเอลจึงมีความชอบธรรมทุกประการที่จะดำเนินการตอบโต้ใดๆ หรือดำเนินการอื่นๆอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศอิสราเอลจะดำเนินการเช่นไรต่อไปในเมื่อสถานการณ์ตึงเครียดเพิ่มอย่างทวีคูณ? ทูตซากิฟ กล่าวว่าเป้าหมายหลักของรัฐบาลอิสราเอลยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือการกำจัดกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ “กลุ่มฮามาส” ในฉนวนกาซา การปลดอาวุธกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และการช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกจับตัวไปในเหตุการณ์วิปโยค ๗ ตุลาคม๒๕๖๖ ตอนนี้ยอมรับว่ากองทัพอิสราเอลได้ถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากฉนวนกาซาแล้ว และปัญหาที่กำลังตามมาคือกลุ่มฮามาสกำลังได้คืบเอาศอก เรียกร้องเงื่อนไขที่ไม่สามารถยอมรับได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะส่งรายชื่อตัวประกันให้แก่ทางการอิสราเอลการถูกอิหร่านโจมตีครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้สมรภูมิกลายเป็น ๒ แนวรบหน้า-หลัง เพราะปัจจุบันอิสราเอลมีอยู่แล้ว ๒ แนวรบคือฉนวนกาซาทางภาคตะวันตกเฉียงใต้กับพรมแดนเลบานอนทางภาคเหนือ มีอิหร่านเพิ่มขึ้นมาก็คงต้องเรียกว่าเป็นแนวรบที่ ๓ แน่นอนว่าต้องมีการจัดการกับภัยใกล้ตัวก่อน จนถึงทุกวันนี้ยังมีชาวอิสราเอลหลักแสนคนที่ยังไม่สามารถกลับไปอยู่ตามภูมิลำเนาของตัวเองได้ ต้องพำนักอยู่ในโรงแรมหรือบ้านพัก เนื่องจากการโจมตีด้วยจรวดพิสัยใกล้ข้ามพรมแดนยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จะเรียกว่าลุ้นกันทุกคืนก็ว่าได้ส่วนเรื่องที่ว่ากองทัพอิสราเอลจะปฏิบัติ การโจมตีตอบโต้อิหร่านหรือไม่นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อไรและอย่างไร พอถามย้ำกลับไปว่าจะเป็นแบบนี้ๆหรือเปล่า? ทูตซากิฟพูดเชิงทีเล่นทีจริงว่า อาจจะเป็นคืนนี้ หรือวันพรุ่งนี้ หรือไม่ก็ช่วงสิ้นเดือน หรือเดือนต่อๆไป เรามีคำกล่าวอยู่ว่า ช่วงเวลาในการรอคอยสิ่งที่รู้ว่ากำลังจะมา แต่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อใดคือ ช่วงเวลาที่เจ็บปวดและตึงเครียดอย่างถึงที่สุด.ทีมข่าวต่างประเทศคลิกอ่านคอลัมน์ “๗ วันรอบโลก” เพิ่มเติม