Sunday, 19 January 2025

แดดดุ..องศาเดือด ร้อนหนักอุณหฆาต

22 Apr 2024
142

ข่าวร้อนๆเมื่อไม่นานมานี้ หลายๆคนอาจจะพอจำกันได้…กรณีจอดรถตากแดดมากกว่า ๑ ชั่วโมง มีโอกาสไฟลุกภายในรถขึ้นได้…จากการทดลองในต่างประเทศ พบว่า อุณหภูมิภายนอกที่ร้อนจัด เมื่อรวมกับระยะเวลาที่จอดรถจะทำให้อุณหภูมิภายในรถที่ปิดกระจกทั้งหมดเพิ่มขึ้นเกือบ ๒๐ องศาเซลเซียส…ภายใน ๑๐ นาทียังพบด้วยว่า หากอุณหภูมิภายนอกสูงถึง ๔๒ องศาฯแล้วจอดรถโดยปิดกระจกทั้งหมดกลางแจ้งเป็นเวลา ๖๐ นาที จะทำให้อุณหภูมิภายในห้องผู้โดยสารสูงถึง ๖๕ องศาฯ หากจอดรถนานเป็นเวลามากกว่า ๑ ชั่วโมง อุณหภูมิภายในห้องจะสูงมากกว่า ๗๐ องศาฯเลยทีเดียว ประเด็นควรรู้มีอีกว่า…รังสีความร้อนที่ผ่านกระจกและตัวถังรถเข้ามาภายในจะมีรังสีที่มีความยาวคลื่นทั้งคลื่นยาวและคลื่นสั้น คลื่นยาวของรังสีความร้อนเมื่อผ่านเข้าไปในรถยนต์แล้วจะไม่สามารถแพร่ออกมาภายนอกได้เพราะจะถูกวัสดุต่างๆภายใน เช่น เบาะ คอนโซลและวัสดุอื่นๆดูดกลืนรังสีความร้อนไว้และ…ปล่อยคลื่นความร้อนแพร่กระจายออกมาภายในรถ ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น รวมทั้งปลดปล่อยสารต่างๆที่เบาะ คอนโซลที่ดูดกลืนไว้ เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ เบนซิน ซึ่งมีจุดวาบไฟประมาณ ๖๔ องศาเซลเซียส ทำให้อาจลุก “ติดไฟ” และ “ไหม้” วัสดุไวไฟใกล้เคียงได้หากมีของใช้ทิ้งไว้ในรถยนต์และจอดตากแดดช่วงนี้มากกว่า ๑ ชั่วโมงขึ้นไป เช่น ขวดพลาสติกที่มีน้ำ, ไฟแช็ก, กระดาษทิชชู, พลาสติกหรือไม้อัดบางๆ, โทรศัพท์มือถือ, แบตเตอรี่สำรอง, แท็บเล็ต, โน้ตบุ๊ก, กระป๋องสเปรย์ หากจอดรถตากแดดที่มีอุณหภูมิภายนอกสูงถึง ๔๐ องศาฯนานมากกว่า ๑ ชั่วโมง…อาจจะทำให้อุณหภูมิภายในรถสูงมากกว่า ๖๕ องศาฯได้ ซึ่งสามารถทำให้วัสดุไวไฟที่ทิ้งไว้ในรถยนต์มีโอกาสติดไฟลุกไหม้ได้ประเด็นสำคัญมีว่า…การจอดรถยนต์ช่วงนี้ต้องมีที่บังแดดที่กันรังสียูวีกั้นกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เปิดกระจกด้านข้างไว้บางส่วน พยายามหาที่ร่มจอดรถยนต์ รวมทั้งไม่ทิ้งสิ่งของที่เป็นวัสดุไวไฟไว้ในรถยนต์ด้วย…ป้องกันเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ไว้ว่า…อุณหภูมิปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน อาจถึง ๔๔.๕ องศาเซลเซียส ซึ่งมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยดูได้จากค่าดัชนีความร้อน ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนความรู้สึกร้อนของร่างกาย จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์เนื่องจากเมื่อความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้เหงื่อระเหยยากและส่งผลให้รู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริงของอากาศ…หากค่าดัชนีความร้อนเกิน ๔๐ องศาเซลเซียส จะมีความเสี่ยงเกิดโรคลมแดด หรือ “โรคฮีตสโตรก (Heat Stroke)” ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกายและ…เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคฮีตสโตรก ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงแต่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเกิดฮีตสโตรกได้เช่นกันหากต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม เนื่องจากจะดูดซับความร้อนได้ดี ดื่มน้ำมากๆ และสลับเข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ เช่น ทุก ๓๐ นาที หรือทุกชั่วโมงสำหรับอาการสำคัญของ “โรคฮีตสโตรก” คือ วิงเวียน อ่อนเพลีย ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น เหงื่อไม่ค่อยออก ผิวร้อน แดง แห้ง หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็นและดื่มน้ำมากๆสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ ศีรษะ…ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจหากปฐมพยาบาลแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทร.แจ้งสายด่วน ๑๖๖๙ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า การขาดนํ้าเกลือแร่ เมื่อถึงจุดหนึ่ง…ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองจะแปรปรวน ทําให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน ๔๐ องศาฯแทนที่ตัวจะมีเหงื่อกลับแห้ง ตัวร้อนจัด พูดสับสนไม่รู้เรื่อง ซึ่งถ้าถึงระดับนี้จะหมายถึงอาการ “ฮีตสโตรก” (Heat stroke) หรือ “อุณหฆาต” คือถึงตายภาวะนี้จะทําให้ “สมอง” รู้สึกชินชากับ “ความร้อน” ที่ได้รับจนไม่รู้สึกกระหายนํ้า ทั้งๆที่สมดุลนํ้าและเกลือแร่ในร่างกายเสียหายส่งผลให้ระดับความดันเลือดตก“เลือดที่มีนํ้าเป็นส่วนประกอบไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ ทําให้เกิดอาการไตวาย หากเป็นมากๆเซลล์กล้ามเนื้อก็จะเริ่มแหลกสลาย มีของเสียตกตะกอนในไต ทําให้เกิดไตวายซ้ำซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด”นอกจากนี้ความร้อนของอากาศยังขึ้นกับความชื้นในอากาศ ซึ่งป้องกันไม่ให้เหงื่อระเหยระบายความร้อนออกไม่ได้ ทําให้ความร้อนจริงที่ร่างกายต้องเผชิญสูงมากขึ้น ยิ่งอยู่กลางแดดและมีลมร้อนจัด… ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความชื้นในอากาศ ๖๐% อุณหภูมิภายนอก ๓๕ องศาฯ การรับรู้ของร่างกายจะกลายเป็น ๔๕ องศาฯ และ…ถ้าอุณหภูมิภายนอก ๓๘ องศาฯ การรับรู้จะกลายเป็น ๕๖ องศาฯ เป็นต้นให้รู้ไว้อีกว่าอันตรายที่เกี่ยวกับ “แดด” และ “ความร้อน” (และชื้น) แบ่งระดับความรุนแรงได้ ๔ ระดับ ระดับแรก…แดดเผา ผิวบวม แดง ลอก ระดับที่สอง…ตะคริวตามน่อง กล้ามท้อง ระดับที่สาม…เพลียรุนแรง ใกล้จะช็อก ตัวเย็นชืดชื้น ชีพจรเร็วเบา เป็นลม อาเจียน แต่อุณหภูมิร่างกายยังปกติระดับที่สี่…ฮีตสโตรกถือเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤติ อุณหภูมิร่างกายอาจสูงถึง ๔๑ องศาเซลเซียส ผิวแห้ง ร้อน ชีพจรเร็ว แรง อาจหมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิต เหมือนสมองและเครื่องในสุกย้ำว่า…การปฐมพยาบาลขั้นต้น ให้ประคบเย็นตามซอกตัว เช็ดตัว พัดลมระบายความร้อน นอนราบ ยกเท้าสูง หลบแดด ผึ่งลม ประคบเย็น และจิบนํ้าถ้าอาการหนักมาก การใช้นํ้าเย็นอาจทําให้เกิดตะคริวท้อง ให้นอนราบหรือตะแคง หากอาเจียนร่วมด้วย จำไว้ว่า…การดื่มนํ้าจะทําให้เกิดอันตรายในระดับ ๓ และถ้ามีอาการในระดับ ๔ ห้ามให้นํ้าดื่มเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายรุนแรงได้“ระยะนี้การพยาบาลให้นํ้าทางปากอาจเป็นอันตรายได้ ยิ่งถ้าคนสูงอายุมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับยาดังกล่าวข้างต้น ยิ่งมีอันตรายสูงเข้าไปอีก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า“อาการก่อนหน้าที่จะถึงขั้นอุณหฆาต…อาจนํามาด้วยตะคริว หรือหน้ามืด เพลีย คลื่นไส้ จะเป็นลม เพราะฉะนั้นให้ดื่มนํ้าบริสุทธิ์มหาศาล อย่างน้อยวันละ ๒ ลิตรหรือมากกว่า ข้อสำคัญให้หลีกเลี่ยงนํ้าหวาน นํ้าชา กาแฟ เหล้า…ถ้ายิ่งต้องออกไปกลางแดดนานๆ”.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม