Thursday, 19 December 2024

"รังสิมันต์" ชี้ แก้รธน.ประชามติ ๒ ครั้ง พอแล้ว ๓ ครั้ง มันซ้ำซ้อน

รังสิมันต์ โรม สส.ก้าวไกล ยัน แก้รัฐธรรมนูญ ทำประชามติ ๒ ครั้งเพียงพอแล้ว ชี้ ทำ ประชามติ ๓ ครั้ง มันซ้ำซ้อน เสียทั้งงบประมาณ และเวลา โดยไม่จำเป็น จี้ ประธานสภา ต้องกล้าหาญ บรรจุเรื่องนี้ในสภา เดินหน้าต่อ  เมื่อวันที่ ๒๑ เม.ย. นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เตรียมเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเบื้องต้น เสนอทำประชามติ ๓ ครั้ง มองอย่างไรบ้าง ว่า ตนคิดว่า หากจะปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนด การทำประชามติ ๒ ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องทำประชามติในครั้งไหนบ้าง โดยกลไกพอจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เพื่อเปิดทางให้เกิดการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยทั่วไปการทำประชามติ ๒ ครั้ง ก็เป็นกลไกที่ครบถ้วนและรอบคอบอยู่แล้ว ที่ประชาชนสามารถตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่เกิดขึ้น การทำประชามติ ๓ ครั้ง มันซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น ความซ้ำซ้อนแบบนี้จะนำไปสู่การสูญเสียงบประมาณและสูญเสียเวลานายรังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อทุกฝ่ายกลัวที่จะต้องตีความกันหมด ทำให้สุดท้ายคนที่จะต้องแบกรับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือเวลา ก็คือประชาชนทั้งประเทศ ตนยังมองว่า อยากให้ทุกฝ่ายกล้าหาญในการตีความ ซึ่งตนคิดว่าการตีความทางกฎหมาย ไม่ได้เป็นการตีความที่เกินเลยอะไร หากเราอ่านคำวินิจฉัยต่างๆ ก็ไม่ได้ชัดเจนถึงขั้นว่า จะต้องทำประชามติถึง ๓ ครั้ง ตนยังคงยืนยันว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทำประชามติ ๓ ครั้งนายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เราก็พยายามยืนยัน ว่าการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกลไกรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ควรจะบรรจุเรื่องนี้เพื่อให้กลไกต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อได้ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ สุดท้ายผลที่ออกมาศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความในลักษณะว่ายังไม่เป็นปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าเสียดาย หากรัฐบาลจะเดินหน้าทำประชามติ ๓ ครั้ง ที่จะทำให้สูญเสียงบประมาณเพิ่ม ตนขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ ว่า ควรจะบรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมและควรมีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้”ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคิดว่าส่วนที่สำคัญ คือ หากทุกฝ่ายเอาจริงเอาจัง ก็จะสามารถแก้ไขและนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ตนอยากจะให้รัฐบาลเอาจริงเหมือนกับที่สัญญาไว้กับประชาชน แต่ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้ ก็ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มองไปยังรัฐบาลและตั้งคำถามว่า จะเอาจริงเอาจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากแค่ไหน หากรัฐบาลรู้สึกว่าควรจะจริงจังได้แล้ว เราต้องช่วยกันทำให้การแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนหน้าตารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร.) ที่จะต้องไปว่ากันอีกที” นายรังสิมันต์ กล่าว