ปี ๒๕๖๗ ไม่รู้โชคดีหรือร้าย มีการปรับขึ้นค่าแรง ๓ ครั้ง ในรอบเกือบ ๖ เดือน หลังต้นปี นายกฯ แสดงท่าทีไม่พอใจการปรับค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคี ทำให้มีการปรับในรอบที่ ๒ แต่ก็เป็นในกลุ่มธุรกิจโรงแรมนำร่อง ๔๐๐ บ. ซึ่งต้องมานั่งลุ้นการปรับค่าจ้างรอบที่ ๓ จะครอบคลุม ๔๐๐ บ./ทั่วประเทศ อย่างที่แกนนำรัฐบาลโปรยยาหอมไว้หรือไม่ แต่ในมุมนักวิชาการมองการช่วยเหลือแรงงาน มีวิธีอื่นที่ช่วยเหลือค่าครองชีพ หรือลดรายจ่าย โดยไม่ต้องเพิ่มค่าแรง เพราะทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงเป็น “เงาตามตัว”ปี ๒๕๖๗ มีการเสนอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำผ่านคณะกรรมการไตรภาคีถึง ๓ ครั้งใน ๑ ปี มากสุดเท่าที่เคยมีมา หลังช่วงต้นปีมีการเสนอปรับค่าแรง เมื่อ ๑.ม.ค. ๖๗ ปรับค่าแรง ๒-๑๖ บ. รวมแล้วประมาณ ๓๔๕ บ. แต่นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” แสดงท่าทีไม่พอใจการปรับค่าจ้าง จากนั้นอีก ๒ เดือน มีการปรับรอบที่ ๒ เมื่อ๑๓ เม.ย. ๖๗ ใน ๑๐ จังหวัดนำร่อง ในโรงแรมระดับ ๔ ดาว ขึ้นไป มีลูกจ้างตั้งแต่ ๕๐ คน ขึ้นไป โดยปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ ๔๐๐ บ. แต่มีการวิจารณ์ว่า ธุรกิจโรงแรมระดับดังกล่าว ส่วนใหญ่ให้ค่าจ้างเกินอัตราที่กำหนดส่วนการเสนอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ ๓ เบื้องต้นอยู่ในขั้นพิจารณา คาดว่าแล้วเสร็จช้าสุดเดือน ก.ค. ๖๗ ด้านตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายการปรับค่าแรงปี ๖๗ คือขึ้นค่าแรงให้ได้ ๔๐๐ บ. และในอีก ๓ ปี จะขึ้นค่าแรงให้ได้ ๖๐๐ บ. ตามนโยบายของพรรคแกนนำรัฐบาล แม้ทางการเมืองมีการออกมาการันตีว่า พรรคแกนนำรัฐบาลสามารถขึ้นค่าแรงได้ ๔๐๐ บ. แต่ในมุมของคนที่เห็นต่างกลับมองว่า เป็นการขึ้นให้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าที่กำหนด ในมุมของ “รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์กิริยา กุลกลการ” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาด้านแรงงาน กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า การขึ้นค่าแรง ๓ ครั้งในปีเดียว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แรงงานไทย แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกจะเห็นถึงการแทรกแซงของการเมือง ในการพิจารณาการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก คณะกรรมการไตรภาคี เป็นผู้พิจารณา แต่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พรรครัฐบาลได้หาเสียงไว้ ทำให้มีการปรับอัตราค่าจ้างในรอบที่ ๒ ที่ไม่ได้มีผลต่อลูกจ้างในภาพรวม ส่วนการปรับค่าจ้างในรอบที่ ๓ มีความเป็นไปได้มาจากแรงกดดันทางการเมือง พยายามปรับค่าจ้างให้ได้ ๔๐๐ บ./ทั่วประเทศ เพราะการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ๒ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จ ตามนโยบายที่หาเสียงไว้“การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ๔๐๐ บาท ทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นได้ คงมาจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่ถ้าในอุตสาหกรรมไหนมีงบประมาณจ่ายค่าแรงได้มากกว่าที่กำหนด ถือเป็นความสามารถในอุตสาหกรรมนั้น โดยปกติการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีสูตรตายตัวที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกใช้ แต่มีสูตรที่อิงกับเงินเฟ้อ ส่งผลต่อค่าครองชีพของแรงงาน เพื่อให้แรงงานสามารถอยู่ได้ในอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น และกำลังของนายจ้างที่สามารถจ่ายได้”ถ้ามองค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้ที่อยู่ประมาณสามร้อยกว่าบาท ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่การทำให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้มีปัจจัยมาจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่กับการช่วยเหลือเช่น ช่วยลดค่าใช้จ่าย ควบคุมราคาสินค้า รัฐสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศ การช่วยเหลือแรงงานลักษณะสงเคราะห์ นำภาษีมาช่วยเหลือแรงงานที่ยากจนสิ่งสำคัญระยะยาว อุตสาหกรรมของไทยต้องมีการปรับโครงสร้าง เพื่อสร้างศักยภาพให้เอสเอ็มอี มีการพัฒนาธุรกิจให้ทันสมัย แรงงานมีทักษะขั้นสูง โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล”คณะกรรมการไตรภาคี ที่พิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นกระบวนการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติไม่มีประสิทธิภาพ เพราะถูกควบคุมโดยนายทุน ลูกจ้างที่ไปนั่งก็ไม่ใช่ลูกจ้างที่แท้จริง ทำให้กระบวนการต่อรองค่าแรงของลูกจ้าง ไม่ได้อย่างที่ควรเป็น ซึ่งถ้ากระบวนการไตรภาคี มีประสิทธิภาพ ลูกจ้างและนายจ้างมีกระบวนการต่อรองค่าแรงขั้นต่ำ ได้ในอัตราที่เป็นจริง”ผลกระทบเมื่อค่าแรงขั้นต่ำ ๔๐๐ บ.ทั่วประเทศถ้ามองถึงผลกระทบ ตามนโยบายที่ภาคการเมือง ต้องการปรับค่าแรงให้ได้ ๔๐๐ บ./ทั่วประเทศ ในปี ๖๗ “รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์กิริยา” มองว่า ผลกระทบที่ตามมา มีค่อนข้างมาก แม้เป็นผลดีต่อลูกจ้าง แต่ที่น่ากังวลคือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ไม่มีกำลังจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้นได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวสูง ถ้ายิ่งไปบังคับนักลงทุนต่างประเทศ ก็มีโอกาสที่จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่ค่าแรงต่ำกว่าส่วนผลกระทบต่อแรงงาน นายจ้างจะมีการปรับรูปแบบค่าจ้างเป็นการทำงานแบบชั่วคราว และแบบเหมามากขึ้น เหมือนช่วงที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ๓๐๐ บ./ทั่วประเทศ ช่วงแรกส่งผลให้ลูกจ้างไม่มีความมั่นคงในการทำงาน หากประเมินถึงความเป็นไปได้ ตามที่แกนนำรัฐบาลออกมาบอกว่า จะปรับค่าจ้างให้ได้ ๖๐๐ บ./ทั่วประเทศ ในปี ๒๕๗๐ หรืออีก ๓ ปีข้างหน้า ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะอัตราค่าแรงในระดับดังกล่าว ทำได้เมื่อเศรษฐกิจในประเทศดี และมี “จีดีพี” โตอย่างต่ำ ๕ เปอร์เซ็นต์ แต่เศรษฐกิจไทย ไม่ได้โตถึง ๕ เปอร์เซ็นต์มากว่า ๑๐ ปีแล้ว ถ้าภาครัฐมีการบังคับให้จ่ายในอัตราดังกล่าว จะทำให้ค่าครองชีพของแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้ได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ๖๐๐ บ. แต่ค่าสินค้าที่แพงขึ้นทำให้ซื้อของได้จำนวนเท่าเดิม“สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การให้ค่าแรงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย นั่นรวมถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกต้องเอื้ออำนวย โดยอันดับแรก ต้องมีการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ ให้สามารถผลิตและขายได้ในราคาแพงขึ้น”ถ้าเทียบค่าแรงขั้นต่ำของไทย กับประเทศในอาเซียน ค่าแรงของเราค่อนข้างสูงกว่า กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม แต่แรงงานไทยในภาพรวมไม่ได้มีทักษะมากถึงขนาดไปเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือถ้าเทียบกับอินโดนีเซีย แรงงานมีทักษะด้านดิจิทัลสูงกว่าไทย ดังนั้น ทางรอดที่จะทำให้แรงงานไทยอยู่รอด รัฐบาลต้องเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล และเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมทันสมัยมาลงทุนในประเทศ โดยไม่ใช่อุตสาหกรรมที่รับจ้างผลิต ในการนำชิ้นส่วนมาประกอบด้วยแรงงานอย่างสมัยก่อน.