สงครามช่วงชิงพื้นที่ ระหว่างคนกับสัตว์ป่าปัญหาสำคัญของประเทศไทย ณ วันนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของทั้งคนและสัตว์ป่าปัญหาสัตว์ป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะช้างป่าและกระทิง ตลอดจนปัญหาลิงซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีจำนวนมากจนขาดการควบคุมให้เหมาะสมและสมดุลกับระบบนิเวศ รวมถึงการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยในเมือง จนออกมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อการใช้ชีวิตตามปกติสุขของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน อย่างเช่น ปัญหาช้างป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ประมาณ ๔๑ แห่งหรือคิดเป็น ๒๒% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมดขณะที่ปัญหาลิงล้นเมืองในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเข้าแย่งชิงอาหาร สร้างความเดือดร้อนรำคาญก็หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้กำหนดนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด“ช้างไทยเป็นสัตว์มงคลที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง และเกี่ยวข้องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันช้างไทยประสบกับสภาวะวิกฤติต่างๆมากมาย ทั้งปัญหาช้างล้นป่าเนื่องจากพื้นที่ป่าของประเทศลดลง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง หรือโรคอุบัติใหม่ในช้าง ดังนั้น ทส.ต้องเร่งแก้ไขและช่วยเหลือเพื่ออนุรักษ์ช้างให้อยู่ร่วมกับคนได้อย่างมีความสุข” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาสัตว์ป่า พล.ต.อ.พัชรวาท ยังกล่าวถึงนโยบายแนวทางในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๖ ด้าน ประกอบด้วย๑.การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า เช่น การจัดสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร โป่งแร่ธาตุ ตลอดจนปรับปรุงระบบนิเวศถิ่นอาศัยเพื่อดึงดูดให้ช้างป่าอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์๒.การจัดการแนวป้องกันช้างป่า โดยการออกแบบแนวป้องกันช้างป่าให้สามารถป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗ จะก่อสร้างแนวป้องกันช้างป่าตามรูปแบบที่กรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขปัญหาช้างป่า ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ในพื้นที่ป่าตะวันออก๓.การสนับสนุนชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าและเครือข่ายชุมชน โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะและเต็มเวลา โดยปัจจุบันใช้เงินอนุรักษ์สัตว์ป่าและเงินอุทยานแห่งชาติ ในการจัดจ้างราษฎรในพื้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน จำนวนชุดละ ๕ นาย กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งกรมอุทยานฯได้ขอรับการสนับสนุนงบ ประมาณในปี พ.ศ.๒๕๖๗ เพื่อการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่อง ตลอดจนได้อุดหนุนเงินสนับสนุนเครือข่ายอาสาเฝ้าระวังช้างป่าภาคประชาชน จำนวน ๒๑๔ เครือข่าย เครือข่ายละ ๕๐,๐๐๐ บาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนที่รวมตัวเป็นเครือข่าย ช่วยปฏิบัติงานเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าในพื้นที่ของตนร่วมกับเจ้าหน้าที่ ๔.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จากช้างป่า โดยกรมอุทยานฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๗ ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าด้านร่างกาย จำนวน ๔ ชนิด คือ ช้างป่า ลิง กระทิง และหมี ดังนี้ กรณีบาดเจ็บ ทุพพลภาพ อัมพาต สูญเสียแขน ขา หรือตาบอด ทั้งสองข้าง จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท สูญเสียแขน ขา หรือตาบอด หนึ่งข้าง จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท บาดเจ็บทั่วไป เท่าที่จ่ายจริง จำนวนไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ระหว่างพักรักษาตัว วันละ ๓๐๐ บาท ไม่เกิน ๑๘๐ วันตามความเห็นแพทย์ กรณีเสียชีวิต ค่าช่วยเหลือเยียวยา จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท๕.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน ให้กรมอุทยานฯ จัดทำพื้นที่รองรับช้างป่า โดยคัดเลือกพื้นที่อนุรักษ์ในกลุ่มป่าแต่ละภูมิภาคและดำเนินการวางแผนจัดเตรียมความพร้อมของพื้นที่ในทุกด้านเพื่อรองรับช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นอกจากนั้นให้จัดตั้งศูนย์ปรับพฤติ กรรมช้างป่า เพื่อรองรับช้างป่าที่มีพฤติกรรมดุร้าย ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา๖.การจัดการประชากรช้างป่าโดยการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิดส่วนการแก้ไขปัญหาลิงล้นเมือง กำหนดมาตรการตามลักษณะของถิ่นอาศัยของลิงที่ออกมาสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน แยกเป็น ลิงที่อาศัยในพื้นที่ป่าแต่ออกไปหาอาหารในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน : ให้เร่งปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งอาหาร ในพื้นที่ป่าที่ลิงอาศัยอยู่ให้มีอาหารที่เพียงพอและดึงดูดให้ลิงอาศัยอยู่แต่ในป่า ตลอดจนควบคุมการให้อาหารลิงไม่ให้สร้างผลกระทบในอนาคต และลิงเมืองหรือลิงที่อาศัยในพื้นที่ชุมชน : ให้เร่งบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการทำหมัน และหาสถานที่รองรับลิงที่ทำหมันแล้ว โดยต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของลิงที่นำไปดูแลในสถานที่รองรับลิงด้วย นี่คือความพยายามแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์–ลิงล้นเมือง“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า และปัญหาลิงล้นเมือง เป็นเรื่องเรื้อรังที่มีมานาน ซึ่งนโยบายแนวทางในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๖ ด้าน รวมถึงการกำหนดมาตรการตามลักษณะของถิ่นอาศัยของลิง น่าจะช่วยตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่เราขอฝากคือหน่วยงานภาคปฏิบัติทุกภาคส่วนต้องมีความจริงใจและทำงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนเพื่อยุติสงครามช่วงชิงพื้นที่ และให้คนกับสัตว์ป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลในพื้นที่ที่ตัวเองเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง.ทีมข่าวสิ่งแวดล้อมอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่