Thursday, 19 December 2024

ขอกลับเมียนมา ๑,๑๐๗ คน หลังหยุดปะทะ ๔๘ ชั่วโมง

23 Apr 2024
153

ส่งกลับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาอีก ๒ ลอต รวม ๑,๑๐๗ คน ยังเหลือพักพิงอยู่พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ๙๐๖ คน หลังสถานการณ์การสู้รบในเมียวดีเริ่มผ่อนคลาย เสียงปืนสงบลงนานกว่า ๔๘ ชม.แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทั้งทหาร ตชด. และฝ่ายปกครองยังตรึงเข้มตลอดแนวชายแดน “หมอชลน่าน” นำคณะลงพื้นที่ รพ.แม่สอด ติดตามการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ยืนยันยังรองรับสถานการณ์ได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนบรรยากาศด่านพรมแดนแม่สอดแห่งที่ ๑ เงียบเหงา ทั้ง ๒ ฝั่งเปิดด่านตามปกติ แต่ด่านเมียวดีระบบออกหนังสือผ่านแดนชั่วคราวขัดข้องมา ๒ วันแล้ว ชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทยไม่ได้หลังจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารกะเหรี่ยงฝ่ายต่อต้านกับทหารเมียนมาในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ทวีความรุนแรง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากถูกส่งเข้ามารักษาตัวที่ รพ.แม่สอด ต้องระดมทีมแพทย์พยาบาลมาให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบต่างอพยพหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำเมยเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมากเช่นกันผู้สื่อข่าวรายงานจากชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเวลา ๐๘.๐๐ น. วันที่ ๒๒ เม.ย. สถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยูที่สนธิกำลังกับทหารฝ่ายพันธมิตรยิงปะทะกับทหารกองทัพเมียนมา บริเวณด่านพรมแดนถาวรเมียวดีแห่งที่ ๒ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา เริ่มผ่อนคลายลงไปมาก หลังผ่านมานานกว่า ๔๘ ชั่วโมงแล้วที่ไม่มีเสียงปืนจากการยิงปะทะ ทำให้ชาวบ้านทั้ง ๒ ฝั่งมีสภาพจิตใจดีขึ้นหลังต้องเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดมานานหลายวันขณะที่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ๕๕๐ คน ที่พักหลบภัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบ้านวังตะเคียน หมู่ ๔ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ได้สมัครใจแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยอำเภอแม่สอดว่าขอเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดเมียวดี เจ้าหน้าที่ได้นำอาหารปรุงสุกใหม่ ผลไม้ น้ำดื่ม และขนม ให้รับประทานและนำติดตัวกลับบ้าน ตลอดเส้นทางการลำเลียงผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมากลับบ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจัดกำลังอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ชาวเมียนมาทั้งหมดใช้เรือโป๊ะท่าเรือขนส่งสินค้าเป็นยานพาหนะโดยสารข้ามแม่น้ำเมยกลับไปฝั่งจังหวัดเมียวดีด้วยความปลอดภัยทุกคนส่วนพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวท่าทรายรุจิรา หมู่ ๗ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด พื้นที่สุดท้ายที่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้าพักพิงอาศัย มีชาวเมียนมาสมัครใจแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับเพิ่มเติมอีก ๕๕๗ คน เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง รวมตลอดทั้งวันมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาสมัครใจขอกลับประเทศรวม ๑,๑๐๗ คน ขณะนี้ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยท่าทรายรุจิรา ๙๐๖ คน มีเจ้าหน้าที่กาชาดอำเภอแม่สอด ทีมแพทย์สนาม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอำเภอแม่สอดดูแลเป็นอย่างดีตามหลักสากลบรรยากาศที่ด่านพรมแดนถาวรแม่สอด-เมียวดี แห่งที่ ๑ บ้านริมเมย ต.ท่าสายลวด ด่านพรมแดนทั้ง ๒ ประเทศเปิดตามปกติ แต่เกิดปัญหาที่ด่านเมียวดีระบบออกหนังสือผ่านแดนชั่วคราวขัดข้องมา ๒ วันแล้ว ชาวเมียนมาไม่สามารถข้ามมาฝั่งไทยได้ ส่งผลให้บรรยากาศเงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนด่านพรมแดนถาวรแม่สอด-เมียวดี แห่งที่ ๒ บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ ๗ ต.ท่าสายลวด ยังคงปิดด่านทั้ง ๒ ฝั่ง กำลังทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด ตำรวจ ตชด.ที่ ๓๔๖ แม่สอด พร้อมอาวุธครบมือยังตรึงกำลังรอบพื้นที่ด่านพรมแดนถาวรแม่สอดทั้ง ๒ แห่งอย่างแน่นหนา และตรวจลาดตระเวนแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาอย่างเข้มงวดตลอด ๒๔ ชม. ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ ๒ พร้อมคณะ เดินทางไปที่ รพ.แม่สอด ก่อนลงพื้นที่ด่านพรมแดนถาวรแม่สอด แห่งที่ ๑ เพื่อติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากขอข้ามด่านพรมแดนมาเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.แม่สอด ตั้งแต่วันที่ ๒๐-๒๒ เม.ย. มียอดรวม ๑๑๓ คน แบ่งกระจายไปรักษาตัวในหลายโรงพยาบาลตามพื้นที่ชายแดน จ.ตาก หลายคนออกจากโรงพยาบาลได้แล้วเนื่องจากได้รับบาดเจ็บไม่มาก ส่วน รพ.แม่สอด ยังสามารถรับสถานการณ์ตามแผนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพนพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้ รพ.แม่สอด ใช้แผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ และเวชภัณฑ์ต่างๆไว้พร้อมอย่างเต็มที่ ยังมีทีมแพทย์ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองชาวเมียนมาที่เจ็บป่วยในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวเพื่อป้องกันโรค ระบาด เนื่องจากมีผู้หนีภัยความไม่สงบอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก ทั้งนี้ตั้งแต่คืนวันที่ ๒๐ เม.ย. รพ.แม่สอด มีการประกาศแผนฉุกเฉิน เป็นแผนด้านการรองรับผู้ป่วยหมู่ เนื่องจากมีผู้ป่วยส่งเข้ามาพร้อมกันถึง ๒๒ คน เป็นแผนรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามปกติของโรงพยาบาล มี ๓ ระดับ คือ รุนแรงสูงสุด มีผู้บาดเจ็บหนัก ๗ คน ผู้ป่วยมากกว่า ๒๐ คน รุนแรงปานกลาง มีผู้บาดเจ็บหนักน้อยกว่า ๗ คน ผู้ป่วยรวมมากกว่า ๑๐ คน แต่ไม่เกิน ๒๐ คน และระดับรุนแรงน้อย เมื่อให้การดูแลผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วก็จะยุติแผนฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด และมีผู้ต้องรับการผ่าตัดรวม ๔๑ คน ให้การรักษาผู้ป่วยทุกรายไม่แยกว่าเป็นฝ่ายใด เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นสามารถออกจากโรงพยาบาลได้จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงรับไปดำเนินการดูแลต่อนพ.ชลน่านกล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนรองรับผู้ป่วย ได้จัดเตรียมห้องผ่าตัดและเตียงโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัด ได้แก่ รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รพ.พบพระ รพ.แม่ระมาด รพ.ท่าสองยาง รพ.อุ้มผาง และ รพ.แม่สอด รวมห้องผ่าตัด ๑๙ ห้อง และไอซียู ๓๖ เตียง กรณีมีการผ่าตัดมากกว่า ๔ คน จะส่งต่อในจังหวัด และหากมากกว่า ๑๐ คน จะพิจารณาส่งต่อในเขตและจังหวัดใกล้เคียง ส่วนบริเวณพื้นที่ปลอดภัยฯได้จัดพยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำทุกวัน วันละ ๓ คน และแพทย์โรงพยาบาลแม่สอดให้คำปรึกษาตลอด ๒๔ ชม.พร้อมระบบนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน และจัดเตรียมยาเวชภัณฑ์ไว้รองรับตามแผนที่วางไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาว่า ในวันที่ ๒๓ เม.ย. จะประชุมคณะกรรมการและจะมีการแถลงข่าว เมื่อถามถึงการเตรียมแผนระยะยาว นายปานปรีย์กล่าวว่า เตรียมไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว หากเกิดสถานการณ์ก็พร้อมรับมือ ส่วนประชาชนที่ทะลักเข้ามา เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสามารถรองรับได้หมด แม้กระทั่งผู้บาดเจ็บก็ได้รับเข้ามาดูแลนายชยพล สะท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.ทหารให้ความสำคัญการช่วยเหลือปกป้องคนไทยที่อาศัยในพื้นที่มีการสู้รบ และที่พักอาศัยบริเวณชายแดน โดยเฉพาะเศษชิ้นส่วนอาวุธ กระสุนและสะเก็ดระเบิดลูกหลง ที่กองทัพต้องมีความพร้อมเฝ้าระวังรับมือ ประกาศเตือนไม่ให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และบ้านเรือนทรัพย์สินได้รับความเสียหายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งนี้ กมธ.ทหารจะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ที่ จ.ตาก เพื่อตามความคืบหน้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประสานข้อมูลต่างๆนำมารายงานต่อที่ประชุม อาจเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงสถานการณ์ ขั้นตอนการปฏิบัติงานรวมถึงการช่วยเหลือคนไทยที่อาศัยใกล้พื้นที่สู้รบ ทั้งนี้ ประเมินสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มองว่าเป็นจุดแตกหักต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่