“พัชรวาท” ถกมาตรการยกระดับแก้ฝุ่น “PM ๒.๕” เคาะตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดอุบลฯ-นครพนม แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน๖๗ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน โดยมี ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมกันนี้ยังได้ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ เพื่อรับฟังรายงานความก้าวหน้าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM ๒.๕พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือการดำเนินงานภายใต้มาตรการฉุกเฉิน เพื่อยกระดับการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM ๒.๕ ในช่วงสถานการณ์วิกฤติ โดยได้เห็นชอบร่างคำสั่งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครพนม เนื่องจากมีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM ๒.๕ เฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง มากกว่า ๗๕.๑ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องติดต่อกัน ๕ วัน อีกทั้งยังได้ให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มเติม กรณีปริมาณฝุ่นละออง PM ๒.๕ เฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ ๗๕.๑ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน ๓ วัน โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดฯ และดำเนินการเสนอประธานกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อความยั่งยืนลงนามต่อไปนอกจากนี้ ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มเติม ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้อมอบหมายนายกรัฐมนตรี ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา การสนับสนุนการเกษตรปลอดการเผา การห้ามหรือควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการกีดกันทางการค้า การประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM ๒.๕) ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และประกาศเขตอัคคีภัย ไฟป่า ในพื้นที่ ๘ อำเภอ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ผสานความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้ความเข้าใจ รวมถึงบังคับใช้มาตรการฉุกเฉิน ควบคู่กับการดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด การดูแลสุขภาพของประชาชน การจัดตั้งห้องปลอดฝุ่นที่รองรับได้มากกว่า ๙๐๐,๐๐๐ คน การสนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คลินิกมลพิษและ Telemedicine การยกระดับความร่วมมือและเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการเผาอยู่มาก และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม ๙ จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อให้เกิดการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM ๒.๕ อย่างใกล้ชิด