Sunday, 19 January 2025

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ Digital Wallet ดำเนินการไม่เกิน กันยายน ๒๕๖๙

โฆษกรัฐบาล เผย ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ และมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet โดย คกก. นโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ มีมติ ๓ ข้อดังนี้๑. รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ (เบื้องต้น) ที่คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการ๒. เห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้- วัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม- กลุ่มเป้าหมายต้องมีคุณสมบัติ เช่น มีอายุเกิน ๑๖ ปี ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน ๘๔๐,๐๐๐ บาทต่อปีภาษี และเป็นผู้มีเงินฝากไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท- แนวทางการเข้าร่วมโครงการฯ เช่น กลุ่มผู้ใช้สิทธิต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ และใช้แอปพลิเคชันเพื่อสแกน QR Code ณ ร้านค้าในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน- เงื่อนไขการใช้จ่าย เช่น ให้ประชาชนใช้จ่ายแบบพบหน้า (Face to Face) เพื่อซื้อสินค้ากับร้านค้าขนาดเล็กในพื้นที่เท่านั้น (การใช้จ่ายรอบที่ ๑) แต่ไม่รวมถึงบริการ ทั้งนี้ ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ- เงื่อนไขการถอนเงินสดจากโครงการฯ ของร้านค้า เช่น ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย- หน่วยงานผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนร้านค้า- แหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็น (๑) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ จำนวน ๑๕๒,๗๐๐ ล้านบาท (๒) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท และ (๓) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ จำนวน ๑๗๕,๐๐๐ ล้านบาท- ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ต้องไม่เกินเดือนกันยายน ๒๕๖๙ทั้งนี้ ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ โดยมอบหมายให้ กค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คกก. นโยบายฯ นำเสนอเรื่องต่อ ครม. ต่อไป