Saturday, 18 January 2025

“วันนอร์” แนะก้าวไกล เสนอร่างแก้รธน. เข้าสภา หากถูกศาลตีตก อาจเสียเวลากว่าทำประชามติ

“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ชี้ ทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอดภัย ไม่เสียเวลา มั่นใจ ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เหมือนเลือกตั้งเกิน ๗๐% แนะก้าวไกล หากเสนอร่างเข้าสภาฯ มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถูกตีตก อาจเสียเวลามากกว่าทำประชามติวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๗ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๘ ในช่วงวันที่ ๕-๖ มิถุนายน ตามที่มีกระแสข่าว ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเสนอร่างฯ มาเมื่อใด แต่ส่วนตัวมองว่าหากเป็นช่วงเดือนมิถุนายนก็เป็นเรื่องดี /อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ เนื่องจากรัฐบาลจะต้องไปทำประชามติในรอบแรกก่อน ซึ่งเห็นว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม แต่มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ค้างคาอยู่ ถ้ารัฐบาลอยากเอาเข้าสมัยประชุมวิสามัญสภาก็พร้อม ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากใครเสนอมาสภาก็จะรับไว้พิจารณาส่วนจะบรรจุได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของสภาและฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบดูว่าจะสามารถบรรจุได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ประธานสภาเร่งบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า สามารถเสนอมาได้ แต่จะบรรจุหรือไม่ ต้องดูอีกทีเพราะรัฐบาลก็มีมติว่าจะทำประชามติก่อน และต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ว่าถ้าเสนอเข้ามาแล้วมีการพิจารณาไปแล้ว หากไปมีความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก ก็จะเสียเวลาไปมากกว่าที่รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าจะทำประชามติ ๓ รอบ เมื่อถามว่าหากการทำประชามติครั้งแรกแล้วประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งจะทำให้งบประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าล้านบาทสูญเปล่าหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังมั่นใจว่า ประชาชนจะออกมาเกินครึ่งเพราะเวลาเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับไหน ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง ส่วนใหญ่ประมาณ ๗๐-๘๐% และระยะหลังมีการมีการรณรงค์มาก ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์กว่า ๘๐%  นายวันมูหะมัดนอร์ ย้ำว่า อย่างน้อยการทำประชามติรอบแรก ก็เพื่อถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยากจะมีการแก้ไข ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ค่อยเสนอร่างเข้ามาแก้ไขก็จะทำให้ไม่เสียเวลา ซึ่งถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนและปลอดภัย