Thursday, 19 December 2024

รัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยครึ่งใบ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๗ ต่อ ๐ สั่งไม่รับคำร้องของ ประธานรัฐสภา ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง และทำในขั้นตอนใดบ้าง มีความเห็นต่างกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลและประชาธิปัตย์ เพื่อไทยเห็นว่า ก็ทำประชามติทั้ง ๓ ครั้ง เพื่อให้ปลอดภัยที่สุด แต่ฝ่ายค้านเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ควรไปดึงเอาศาลรัฐธรรมนูญมาเกี่ยวข้องประเด็นที่ถกเถียงนอกจากการทำประชามติ การแก้ไขกฎหมายประชามติ ยังลามไปถึงความคาบเกี่ยวระหว่าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการยกเลิกรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๖๐ โดยอ้างการแก้ไขมาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวด ๑๕/๑ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าไป เข้าข่ายยกเลิกรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาศัยความขัดแย้งในประเด็นนี้ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ทำให้ประธานสภาตัดสินใจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ต้องยื้อเวลาออกไปอีก ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน ล่าช้ากว่ากำหนดมา ๗ เดือน สุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องการทำประชามติก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ยุ่งเข้าไปอีก เป็นเหตุผลให้ฝ่ายรัฐบาลตีความว่า จะต้องมีการทำประชามติทั้ง ๓ รอบ และยืนยันขั้นตอนการทำประชามติเข้าสู่ความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรีไปแล้วคือ ทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.๒๕๖ (การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ผ่านสภา และภายหลังจากการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.แล้วคำถามที่จะใช้ทำประชามติรอบแรก ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องอาศัยเสียง สว. ในขณะที่ สว.ชุดนี้จะครบวาระในวันที่ ๑๑ พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องรอ สว.ชุดใหม่ที่จะมาจากการสรรหาก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน ไม่นับรวมกับงบประมาณในการทำประชามติอีกไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาทดังนั้นไม่ว่าจะทำประชามติ ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้ง ขึ้นอยู่กับ ประธานสภาจะบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ และจะแก้ข้อกฎหมายที่ยังคลุมเครือได้อย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่านขึ้นอยู่กับมือ สส.และ สว.ในสภาด้วยในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกบรรจุในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แถลงเอาไว้ต่อสภา จะผิดจะถูกอย่างไร รัฐบาลอยากจะแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ รัฐบาลเพื่อไทยก็ต้องดำเนินการตามนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ส่วนจะให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำในสภา ไม่ผ่านสภา เพราะไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ รัฐบาลเสียงข้างมาก จะให้ออกหัวออกก้อยอย่างไรก็ได้อยู่แล้วแล้วเราจะยังต้องดันทุรังที่จะแก้รัฐธรรมนูญกันต่อไป เพียงเพราะต้องการแก้ไขอำนาจของ สว. เพียงเพราะการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง สส. หรือที่มาของ สว. หรือถ้าจะมากกว่านี้ โดยต้องแลกกับงบประมาณกว่า ๓ พันล้านบาท เพื่อสนองความต้องการของนักการเมือง แล้วได้รัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบแล้วประชาชนจะได้อะไร.หมัดเหล็กmudlek@thairath.co.thคลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม

Related posts