Thursday, 19 December 2024

นักวิจัย มช.เจ๋งทำภารกิจไอซ์คิวบ์อัปเกรด ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์วราภรณ์ นันทิยกุล ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า เรือโท ด็อกเตอร์ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ได้รับเลือกไปปฏิบัติงานในพื้นที่ใจกลางขั้วโลก ทวีปแอนตาร์กติกา เพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติในการเจาะน้ำแข็งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนหรืออนุภาคมูลฐานชนิดหนึ่งที่ตรวจจับได้ยากมากที่ใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ โดยจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ ๒ เดือน ร่วมกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ กลุ่มวิจัยชั้นนำของโลก มีนักวิจัยรวมกว่า ๓๕๐ คน จาก ๑๔ ประเทศ ๕๘ สถาบัน เพื่อทำพันธกิจในโครงการไอซ์คิวบ์อัปเกรด (Ice Cube Upgrade) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับนิวทริโนพลังงานต่ำที่เข้ามายังโลก นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ได้มีตัวแทนและเป็นนักวิจัยไทยคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ตามความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูดภายใต้พระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี + ภารกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์วราภรณ์กล่าวต่อว่า เรือโท ด็อกเตอร์ชนะ ได้เดินทางถึงหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวป์ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม๒๕๖๖ และเริ่มปฏิบัติภารกิจที่สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ที่ถูกสร้างไว้เพื่อศึกษาอนุภาคนิวทริโนที่เข้ามายังโลกโดยใช้เครื่องตรวจวัดที่เรียกว่า Digital Optical Module หรือเรียกสั้นๆว่า DOM ที่ใช้ในการตรวจจับนิวทริโนผ่านรังสีเชอเรนคอฟ โดยโครงการวิจัยของ มช.นี้ ได้เข้าร่วมกับไอซ์คิวบ์ ซึ่งเป็นโครงการเชิงเทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่า โครงการไอซ์คิวบ์อัปเกรด (IceCube Upgrade) เป็นการวางแผนจะเพิ่มเส้นลวดตรงบริเวณแกนกลางของสถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์อีก ๗ เส้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับนิวทริโนพลังงานต่ำ“การไปปฏิบัติงาน ณ ทวีปแอนตาร์กติกาของนักวิจัยไทยในครั้งนี้จะนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ อาทิ เทคโนโลยีการปฏิบัติงานในพื้นที่สุดขั้ว เทคโนโลยีการขุดเจาะด้วยของไหล การศึกษารังสีคอสมิกเพื่อการพยากรณ์สภาวะอวกาศ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฏจักรของจุดบนดวงอาทิตย์กับการแผ่รังสีคอสมิกที่เป็นอันตรายต่อโลก ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศในการก้าวเข้าสู่วิทยาการขั้นสูงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์วราภรณ์กล่าว.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่